ยกระดับสมุนไพรไทย สร้างมูลค่าตลาดโลก


สมอ.เดินหน้าดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ยกระดับให้ได้มาตรฐาน มอก. สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการใช้สมุนไพร สนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้มีคุณภาพ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าสากล ตั้งเป้าปี 65 ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพของอาเซียน
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกนิยมใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 9 หมื่นล้านเหรียญดอลล่าสหรัฐต่อปี รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับสมุนไพรไทยโดยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เช่น ผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้มีมาตรฐาน มีคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยพืชสมุนไพรที่ชุมชนรู้จักสรรพคุณและนำมาใช้ประโยชน์มีประมาณ 1,800 ชนิดและมี 300 ชนิด ที่เป็นวัตถุดิบสมุนไพรสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรจำหน่ายในท้องตลาดได้ อาทิ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ไพล และกระชายดำ เป็นต้น สมอ. ตระหนักถึงความสำคัญของพืชสมุนไพรจึงได้ร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยแลนด์ 4.0 ให้มีคุณภาพระดับสากล โดยมีเป้าหมายให้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสมุนไพร และน้ำมันหอมระเหย มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดการค้าสากล โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2565 ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพของอาเซียน
นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกิจกรรมโครงการพัฒนามาตรฐานฯ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องสมุนไพรจะเป็นผู้จัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพรโดยเริ่มจากสมุนไพรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จำนวน 5 ชนิด ประกอบด้วย ไพล ใบบัวบก ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และกระชายดำ และจัดส่งต้นฉบับร่างมาตรฐานดังกล่าวให้ สมอ. นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการวิชาการรายสาขาที่ 74 ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พิจารณากลั่นกรอง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและประกาศใช้ได้ภายในปี 2561
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ สมอ. ประกาศเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้วมีจำนวน 7 เรื่อง ได้แก่ น้ำมันไพล มอก. 1679-2541 น้ำมันดอกกานพลู มอก. 1680-2541 น้ำมันตะไคร้ มอก. 1681-2541 น้ำมันตะไคร้หอม มอก. 1682-2541 น้ำมันผิวมะกรูด มอก. 2078-2544 น้ำมันใบมะกรูด มอก. 2079-2544 และน้ำมันโหระพา มอก. 2080-2544 ซึ่งทั้ง 7 เรื่องนี้ สมอ. มีแผนการปรับปรุงมาตรฐานในปี 2561 เพื่อให้มาตรฐานมีความทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน
“ทั้งนี้ความต้องการมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรยังมีอีกมาก เนื่องจากสมุนไพรเป็นวัตถุดิบสำคัญที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลาย รวมถึงการนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งการกำหนดมาตรฐานจะส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย นอกจากนี้ สมอ. ยังได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย รวมถึงแนวทางในการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแนวทางสากล เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล” นายพิสิฐ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น