ศิลปกรรมล้านนาที่วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี แพร่

ด้วยความที่วัดนี้สร้างขึ้นด้วยรูปแบบสมัยใหม่ไม่มีวัดใดเสมือน จึงทำให้วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี กลายเป็นศูนย์รวมแห่งพุทธศิลป์ล้านนารุ่นใหม่ ภาพจิตรกรรมที่ปรากฏอยู่บนฝาผนังระเบียงคต เป็นเรื่องราว
ของชาดกพื้นบ้านและภาพพุทธประวัติ สิ่งที่น่าสนใจก็คือภาพวิถีชีวิตพื้นบ้านและการดำรงอยู่ของคนล้านนา

เมืองแพร่นิราศร้างล่ม ลงดินแลฤา
สุโทนธาตุพุทธศิลป์ ส่องหล้า
ปูนปั้นแกะสลักอินทร์ อวดโลก
โยนกล้านนาหม้า ใหม่ศรี

บนถนนสายแพร่-ลำปาง ช่วงอำเภอเด่นชัยเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่บนเนินเขาด้วยรูปแบบศิลปกรรมล้านนาประยุกต์ ความกว้างใหญ่ของศาสนสถานและความสวยงามของศิลปกรรมจึงดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมากราบไหว้วัดนี้อยู่เสมอ

ภายในบริเวณวัดเริ่มตั้งแต่ทางเข้าร่มรื่นด้วยไม้น้อยใหญ่หลายชนิดสร้างความร่มเย็นให้แก่ผู้เดินทางมาเยือนที่นี่ แรกเริ่มเมื่อย่างกรายเข้าไปในบริเวณวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี จะพบเห็นลวดลายปูนปั้นต่างๆ นานา ที่เด่นชัดได้แก่รูปปั้นของยักษ์ 2 ตนที่ยืนตระหง่านหน้าทางเข้าพระวิหาร
แม้ว่าวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีจะเพิ่งสร้างขึ้น เป็นวัดใหม่แต่ก็ยังมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ไม่มากนัก โดยมีครูบาน้อยหรือพระอธิการมนตรี ธัมมฺเมธี เป็นเจ้าอาวาสและผู้เริ่มบุกเบิกในการสร้าง
วัดมากว่า 20 ปีจนกระทั่งมีศาสนสถานที่สำคัญปรากฏอยู่มากมาย
พุทธศิลป์ที่ทำให้วัดนี้มีความโดดเด่นน่าสนใจไม่ใช่อยู่ที่ความใหญ่โตรโหฐานของวัด แต่อยู่ที่ความลึกซึ้งและรากเหง้าทางภูมิปัญญาของพุทธศิลป์ล้านนา ซึ่งท่านครูบาน้อยเจ้าอาวาสมีฝีมือในด้านงานแกะสลัก งานปั้น และยังเป็นจิตรกรที่สามารถเขียนเรื่องราวพุทธประวัติได้อย่างสวยงามอีกด้วย โดยเฉพาะลายปูนปั้นที่ปรากฏอยู่ในบริเวณวัดส่วนใหญ่เป็นผลงานของท่านเจ้าอาวาสทั้งสิ้น

ด้วยความที่วัดนี้สร้างขึ้นด้วยรูปแบบสมัยใหม่ไม่มีวัดใดเหมือน จึงทำให้วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรีกลายเป็นศูนย์รวมแห่งพุทธศิลป์ล้านนารุ่นใหม่ ภาพจิตรกรรมที่ปรากฏอยู่บนฝาผนังระเบียงคต เป็นเรื่องราวของชาดกพื้นบ้านและภาพพุทธประวัติ สิ่งที่น่าสนใจก็คือภาพวิถีชีวิตพื้นบ้านและการดำรงอยู่ของคนล้านนา
ภายในเขตพุทธาวาสปรากฏเจดีย์ต่างๆ ทรงล้านนากว่า 20 องค์ นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าบันไดทางขึ้นทิศตะวันออกมีรูปปั้นสิงห์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ 2 องค์ เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจจากผู้ผ่านไปมาได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีอาคารเรือนไม้สักทรงล้านนาที่ตกแต่งเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์มูลค่าการก่อสร้างเกือบ 10 ล้านบาทเก็บรวบรวมเรื่องราวของล้านนาและเมืองแพร่ โดยเฉพาะข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณ รวมไปถึงอาวุธของนักรบโบราณและภาพถ่ายของเจ้านายฝ่ายเหนือและภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในล้านนาที่หาดูได้ยาก
นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่และเครื่องใช้ทางศาสนาประเภทตู้ไม้ หีบโบราณ ธรรมมาสน์ เครื่องดนตรีล้านนาและฉลองพระองค์เจ้านาย อีกเป็นจำนวนมาก

วัดนี้นับเป็นศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่สำคัญและใหญ่โตที่สุดในภาคเหนือ การก่อสร้างและวัตถุต่างๆ ล้วนได้มาจากการบริจาคทั้งสิ้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงศรัทธาแก่กล้าของผู้คนทั้งในท้องที่และต่างถิ่นที่มีต่อเจ้าอาวาส
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ครูบาน้อยท่านจะมีความหวงแหนในศิลปะมรดกล้านนาดังคำที่ท่านได้จารึกลงในผนังทางเข้าพระอุโบสถว่า
“พุทธสถานแห่งนี้ ข้าพเจ้าได้ทุ่มเทอุทิศทั้งชีวิตและวิญญาณตลอดระยะเวลา 15 ปีเพื่อสร้างมอบไว้ในบวรพุทธศาสนาจึงขอฝากให้เจ้าอาวาสองค์ต่อไปและผู้ที่จะมาดูแลแทนข้าพเจ้า จงมีความรักและหวงแหนสืบสานงานศิลป์และวรรณกรรมที่ข้าพเจ้าสร้างไว้ ณ สถานที่แห่งนี้”

ร่วมแสดงความคิดเห็น