เร่งช่วยเหลือผู้ปลูกถั่วเหลือง เมืองสามหมอกให้ลุกขึ้นได้

ความคืบหน้าการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง จ.แม่ฮ่องสอน ทุกภาคส่วนร่วมการประชุมหารือปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ภาคเอกชนย้ำมีการเข้ารับซื้อต่อเนื่อง แต่จากการรับสิทธินำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ทำให้ติดต่อค้าขายยากขึ้น ขณะที่เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ฝากให้เกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดทำข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง ปริมาณผลผลิต พื้นที่เพาะปลูก และพ่อค้ารวบรวมในท้องที่ให้ชัดเจน ซึ่งทาง สศก. จะแจ้งให้ผู้มีสิทธินำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองไปรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองในพื้นที่

จากการประชุมหารือปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 20 ตุลาคม 2560 ณ ห้องประชุม AEOC ชั้น 3 ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

กรรมการผู้จัดการบริษัท ลิ้มศักดากุล อุตสาหกรรมการเกษตร (ไทยแลนด์) จำกัด (นายวิรัตน์ ลิ้มศักดากุล) ได้ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีการติดต่อซื้อขายกับโรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลืองอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากได้รับสิทธินำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ทำให้ติดต่อค้าขายยากขึ้น มีเฉพาะบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ที่มีการติดต่อซื้อขายเป็นประจำ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว จะเริ่มเปิดการรับซื้อเมล็ดถั่วเหลือง ในวันที่ 19-20 ตุลาคม 2560 ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ส่งเมล็ดถั่วเหลือง ไปยังบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด จำนวน 28 พ่วง หรือปริมาณ 875 ตัน และวันนี้ (20 ตุลาคม 2560) ส่งไปยังบริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด ประมาณ 870 ตัน บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ (ถั่วนึ่ง) และรับซื้อพืชผลทางการเกษตรชนิดต่างๆ ซึ่งทางบริษัทฯ มีการรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองเกรดสกัดน้ำมัน แต่ 8 สมาคมและ 16 บริษัท ไม่รับซื้อจากเกษตรกร ทั้งนี้ ผู้มีสิทธินำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองที่มีการนำเข้าในปริมาณมาก ควรมีการรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองจากเกษตรกรในปริมาณที่มากด้วย

ประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน (นางสาวชนเขต บุญญขันธ์) ชี้แจงว่า ได้เข้าไปจัดการเมล็ดถั่วเหลืองในส่วนที่ยังขายไม่ได้ ในอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่รอเก็บเกี่ยวจำนวน 3,000 ตัน โดยได้ติดต่อให้ผู้รวบรวมจากอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เข้าไปรับซื้อ แต่มีปัญหาคือผู้รับซื้อหลัก 2 ราย ในอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความประสงค์ที่จะจำหน่ายเมล็ดถั่วเหลืองที่รวบรวมได้ให้บริษัทลิ้มศักดากุลอุตสาหกรรมการเกษตร (ไทยแลนด์) จำกัด เท่านั้น

ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ) ให้ข้อคิดเห็นว่า ระบบการซื้อขายเมล็ดถั่วเหลืองมีมา 20-30 ปี ไม่เคยมีปัญหา หากเกิดกรณีเกษตรกรในพื้นที่ใดขายไม่ได้ ผู้มีสิทธินำเข้า เมล็ดถั่วเหลืองจะต้องเข้าไปรับซื้อ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นต้องแยกเมล็ดถั่วเหลืองเป็น 2 กรณี คือ เมล็ดถั่วเหลืองที่อยู่ในมือของเกษตรกร และส่วนที่อยู่ในมือของบริษัท ลิ้มศักดากุลอุตสาหกรรมการเกษตร (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินธุรกิจของบริษัทลิ้มศักดากุลอุตสาหกรรมการเกษตร (ไทยแลนด์) จำกัด ในส่วนของผลผลิตที่ยังอยู่ในมือเกษตรกรให้แจ้งว่ามีถั่วเหลืองที่ยังไม่ได้จำหน่ายในพื้นที่ไหน จำนวนเท่าไร จะติดต่อให้สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าวเข้าไปรับซื้อรวมทั้งต้องแยกให้ออกว่าบริษัทลิ้มศักดากุลอุตสาหกรรมการเกษตร (ไทยแลนด์) จำกัด ซื้อเมล็ดถั่วเหลืองเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของตนเองหรือเพื่อจำหน่ายต่อ

และในส่วนที่รับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองจากเกษตรกรเพื่อจำหน่ายต่อ มีการทำสัญญากับสมาคมไว้ล่วงหน้าหรือไม่ ที่ผ่านมาภาครัฐไม่มีการกำหนดปริมาณการนำเข้า แต่ให้ผู้มีสิทธินำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองไปบริหารจัดการรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศเอง ภาครัฐไม่มีนโยบายเข้าข้างฝ่ายใด มีแต่นโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรได้ราคาดี และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในฤดูกาลต่อๆไป จึงควรมีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีจำนวนเกษตรกรปลูกถั่วเหลืองเท่าใด ในพื้นที่ไหน พันธุ์อะไร จำนวนเท่าไร โดยขอให้เกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอนรับแจ้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในฤดูกาลต่อไป

รอง ผอ.รมน.จังหวัดแม่ฮ่องสอน (พันเอกสมเจตตะณ์ ภักดีบรรณดิษฐ์) ให้ข้อคิดเห็นว่า ถั่วเหลืองที่คงค้างในมือเกษตรกรอาจมีประมาณ 7,000 ตัน ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการฤดูกาลผลิตหน้าจะมีการจัดทำข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองทั้งหมด

เกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน (นายวุฒิฉัตร เสนีวงศ์ ณ อยุธยา) ชี้แจงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยมีแนวคิดที่จะให้ระบบสหกรณ์เข้ามาจัดการผลผลิต และให้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองทุกรายเป็นสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งจัดหาเครื่องอบลดความชื้นเมล็ดถั่วเหลืองให้สหกรณ์ในพื้นที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข)ให้ข้อคิดเห็นว่า ฝากให้เกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดทำข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง ปริมาณผลผลิต พื้นที่เพาะปลูก และพ่อค้ารวบรวมในท้องที่ให้ชัดเจน ทาง สศก. จะแจ้งให้ผู้มีสิทธินำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองไปรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองในพื้นที่ และขอให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 ติดตามดูแลในพื้นที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด

ร่วมแสดงความคิดเห็น