สมาคมวิจัยวัสดุ ร่วมมช.เจ้าภาพ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ

สมาคมวิจัยวัสดุ ร่วมกับ มช. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1” (1st MRS Thailand International Conference)

เมื่อวันที่ผ่านมา สมาคมวิจัยวัสดุ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานแถลงข่าวการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1” The First Materials Research Society of Thailand International Conference (1st MRS Thailand International Conference) โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นสิริ นายกสมาคมวิจัยวัสดุ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม หัวหน้าศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มช. รองศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มช. ตลอดจนผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานแถลงข่าว ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1” หรือ “The First Materials Research Society of Thailand International Conference (1st MRS Thailand International Conference)” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560 ณ ศูนย์ประชุมดิเอ็มเพรสเชียงใหม่ โรงแรมดิเอ็มเพรส อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีสมาคมวิจัยวัสดุและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพการจัดงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

การจัดการประชุมมีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กับนักวิจัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสากล สนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติที่มี Peer Review เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ และสามารถต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ “สมาคมวิจัยวัสดุ” ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านวัสดุของประเทศไทย

การประชุมประกอบไปด้วย 20 Symposia ที่ครอบคลุมในทุก ๆ ศาสตร์ของวัสดุ และการประยุกต์ใช้ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ทั้ง Old S-curve และ New S-curve ดังนี้คือ (1) Emerging Solar PV (2) Energy Storage Materials (3) Graphene and Carbon Materials (4) Thermoelectrics(5) Dielectrics, Piezoelectrics, Ferroelectrics, Superconductors and Energy Harvesting Materials (6) Magnetic Materials and Their Applications (7) Materials Joining and Additive Manufacturing Technology (8) Ceramic and Glass Technology (9) Polymer, Rubber, Plastics and Bioplastics (10) Biomaterials and Applications (11) Sensors, Organic Electronics and Printed Electronics (12) Metal, Material Processing and Corrosion (13) Composites and Construction Materials (14) Computational Material Sciences (15) Surface Sciences, Tribology and Thin Film Technology (16) Catalyst and Materials Chemistry for Green Environment (17) Instrumentation and Material Characterization (18) Synchrotron Radiation and Applications on Material Sciences (19) Material Education in 21st Century (20) Material Enterprises and Industries

การประชุมครั้งนี้จะมีนักวิจัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศกว่า 20 ประเทศ เข้าร่วม ทั้งทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ประมาณ 1,200 คน ประกอบด้วย (1) วิทยากรบรรยายรับเชิญทั้งหมดจาก 15 ประเทศ คือ ไทย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรีย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลี สิงคโปร์ อินเดีย จีน ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย จำนวน 107 คน (2) ผู้นำเสนอผลงานแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน 750 คน (3) ผู้เข้าร่วมประชุม 100 คน (4) ผู้ติดตาม 12 คน (5) บุคลากรจากหน่วยงานร่วมจัดการประชุม ผู้สนับสนุนงบประมาณการประชุม คณะกรรมการจัดประชุม ประมาณ 250 คน
ผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งในรูปแบบการนำเสนอแบบบรรยายและโปสเตอร์ นอกจากนี้ผลงานที่ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิจะได้นำไปตีพิมพ์ในวารสารในระดับสากลกว่า 15 วารสาร กว่า 400 ผลงาน คือ Materials Today: Proceedings จำนวน 200 ผลงาน และวารสารอื่น ๆ ดังนี้คือ Chiang Mai Journal of Science, KMITL Journal of Science and Technology, Thai Journal of Nanoscience and Nanotechnology, Advances in Natural Sciences: Nanosciences and Nanotechnology, Journal of Reinforced Plastics and Composites, Walailak Journal of Science and Technology, Suranaree Journal of Science and Technology, Ukrainian Journal of Physics, Ferroelectrics / Ferroelectrics Letter Section / Integrated Ferroelectrics, Journal of Metals, Materials and Minerals, Chiang Mai University Journal of Natural Sciences จำนวนกว่า 200 ผลงาน

การประชุมเกิดจากความร่วมมือของนักวิจัยจากหลายภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ในประเทศไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนวัสดุศาสตร์ ตัวแทนจากหน่วยงานวิจัย ภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งนิสิตนักศึกษา ทั้งนี้จัดขึ้นในนามของ “สมาคมวิจัยวัสดุ” โดยสมาคมฯ ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ชื่อภาษาอังกฤษที่ใช้ในการจดทะเบียน คือ “Materials Research Association” โดยสมาคมได้รับการตอบรับให้เป็นสมาชิกของ International Union of Materials Research Societies (IURMS) ในการประชุม IUMRS General Assembly ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2560

การประชุมวิชาการดังกล่าว นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในสาขาวัสดุศาสตร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของสาขาเทคโนโลยีที่ได้รับการชี้บ่งว่าจะเป็นเทคโนโลยีหลักในการพัฒนาประเทศในระยะยาวและจำเป็นอย่างยิ่งในระยะ 20 ปี ต่อจากนี้ เพื่อผลักดันโมเดลไทยแลนด์ 4.0 สำหรับ 5 อุตสาหกรรมใหม่ หรืออุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) คืออุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ

ร่วมแสดงความคิดเห็น