แห่เที่ยวอ่างขาง ซึมซับศาสตร์ พระราชา

คนไทยซึมซับตามรอยศาสตร์พระราชา เผยระยะ 1 ปี สถานีเกษตรหลวง “อ่างขาง-อินทนนท์” นักท่องเที่ยวพุ่งกว่า 5 แสนคน เตรียมความพร้อมบุคลากรรองรับให้บริการสื่อสารความรู้นักท่องเที่ยว พร้อมสานต่อพระราชปณิธาน มุ่งพัฒนางานวิจัยเข้มข้น-ปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อส่งต่อข้อมูลให้เกษตรกร เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการหลวง “เลอตอ” จังหวัดตาก โครงการหลวงสุดท้ายในรัชกาลที่ 9

นายสมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง-อินทนนท์ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ กล่าวว่า ในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา โครงการหลวงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศึกษาเรียนรู้ และเป็นจุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาตามรอยศาสตร์พระราชา ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก

โดยพื้นที่โครงการหลวงที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จากเดิมมีสถิตินักท่องเที่ยวราว 2 แสนคนต่อปี เพิ่มขึ้นถึง 370,000 คนในช่วงระยะ 1 ปี ขณะที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทองก็เพิ่มขึ้นจาก 1 แสนคนเป็น 2 แสนคน นอกจากนี้ยังมีคณะหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ส่งหนังสือขอเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการหลวงในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมามากถึง 20,000 คน

สำหรับไฮไลต์เด่นของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นในปี 2512 ตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ตามดอยต่าง ๆ ทางภาคเหนือเลิกการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย โดยเป็นสถานีทดลอง ค้นคว้าวิจัยพืชเมืองหนาว ไม้ป่าโตเร็ว พืชผัก สมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ ชาจีน

ขณะนี้ได้รวบรวมภาพเก่าเมื่อครั้งเริ่มการบุกเบิกพื้นที่ นำมาจัดนิทรรศการร้อยเรียงเรื่องราวทั้งในห้องจัดแสดงและเชื่อมโยงเรื่องราวไว้ในพื้นที่ โดยจะเปิดให้ชมในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 นี้ ส่วนสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จัดตั้งขึ้นในปี 2522 เน้นส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ดำเนินงานวิจัยด้านไม้ตัดดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผลขนาดเล็ก

นายสมชายกล่าวว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการมาศึกษาเรียนรู้และซึมซับเรื่องราวต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการหลวงเป็นเป้าหมายหลัก โดยได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และพนักงาน เพื่อสื่อสารให้ความรู้ อธิบายเรื่องราวในเชิงพื้นที่และงานวิจัยพืชผลต่าง ๆ กับนักท่องเที่ยวให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นยังมีโครงการหลวงอีกหลายแห่งที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศึกษาเรียนรู้ ได้แก่

1.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ม่อนแจ่ม อยู่ในพื้นที่ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม ส่งเสริมการปลูกผักเมืองหนาวและไม้ผล

2.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน เป็นแหล่งสาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม และปลูกกาแฟอราบิก้า

3.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ส่งเสริมด้านไม้ผล ไม้ดอกและพืชผัก 4.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ตั้งอยู่ในอำเภอกัลยานิวัฒนา ส่งเสริมการปลูกพืชผักหลายชนิด 5.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ส่งเสริมอาชีพด้านการปลูกพืช อาทิ พืชผัก สมุนไพร ไม้ดอก ไม้ผล ดอกไม้แห้ง พืชไร่ และเลี้ยงสัตว์

6.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง อยู่ท่ามกลางหุบเขาและแมกไม้ ตั้งอยู่ในตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยแปลงกุหลาบ กว่า 200 สายพันธุ์ และผักชนิดต่าง ๆ และ

7.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย อยู่ในตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้า ที่ได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร และมีการทำนาข้าวแบบขั้นบันได การทอผ้าขนแกะของกลุ่มแม่บ้านห้วยห้อม

นอกจากนั้นยังมีโครงการหลวงที่อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาก็คือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เป็นโครงการหลวงล่าสุดแห่งที่ 39 รัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อราวเดือนตุลาคม 2559 เป็นการพลิกฟื้นผืนป่าจากที่มีการปลูกฝิ่นมาส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านปลูกพืชผัก ขณะนี้มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการกว่า 120 ราย จาก 5 หมู่บ้าน แต่การคมนาคมยังไม่สะดวก

ทั้งนี้โครงการหลวงได้เร่งประสานงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมที่ปัจจุบันยังเป็นดินลูกรังยากต่อการเข้าถึง และเป็นอุปสรรคในการขนส่งผลผลิต โดยทางหลวงชนบทจะเข้ามาพัฒนาเส้นทาง ส่วนกรมพัฒนาที่ดินจะเข้ามาดูแลเรื่องการจัดระบบดินและน้ำ กรมทรัพยากรน้ำจะเข้ามาดูเรื่องการจัดสรรแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานราว 3-4 ปี จึงจะสามารถเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้แก่นักท่องเที่ยวได้

ขณะเดียวกัน โครงการหลวงอยู่ระหว่างการเตรียมจัดงาน “49 ปี โครงการหลวง” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ธันวาคม 2560 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะมีการนำผลผลิตโครงการหลวงจากทุกพื้นที่มาจำหน่าย พร้อมทั้งการจัดนิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการหลวงตามพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9

ร่วมแสดงความคิดเห็น