อุทยานธรรมแกลเลอรี่ สวนสวรรค์แห่งป่าซาง

มีไม่กี่คนนักที่จะรู้ว่าภายในสวนลำใยที่ร่มคลึ้มด้วยเงาไม้ฝั่งตะวันออกของตลาดป่าซางในหมู่บ้านป่าซางน้อยจะถูกเนรมิตให้กลายเป็นสวนสวรรค์หรือที่เรารู้จักในชื่อว่า “อุทยานธรรมะแกลเลอรี่” ผลงานอันภาคภูมิใจของศิลปินแห่งชาติที่ชื่อ “อินสนธิ์ วงศ์สาม”

อินสนธิ์ วงศ์สาม เป็นชาวลำพูนเชื้อสายยองโดยกำเนิด สำเร็จการศึกษาจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากที่จบการศึกษาเขาได้สร้างความฮือฮาให้แก่ชาวโลกด้วยการขี่สกูตเตอร์ ลัมเปตาสีแดงคู่ใจหอบหิ้วเอางานเขียนตะลุยสู่โลกกว้างจากกรุงเทพฯไปยังประเทศอิตาลี การเดินทางอันแสนบ้าบิ่นในครั้งนั้นอินสนธิ์ลัดเลาะไปตามเส้นทางตะเข็บพรมแดนไทย-พม่า เข้าสู่อินเดียผ่านตะวันออกกลางไปโผล่ที่กรีซ ระหว่างการเดินทางเขานำภาพเขียนออกมาขายเพื่อหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีแผ่นดินเกิดของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

การเดินทางผจญโลกกว้างของเขาใช้เวลาระหกระเหินอยู่หลายปี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อินสนธิ์ วงศ์สามสามารถเข้าใจภาษาต่างประเทศมากมายถึง 50 ภาษาข้อสำคัญการผจญภัยอย่างโดดเดี่ยวในครั้งนั้นได้หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนที่เปิดใจกว้าง องอาจ กล้าหาญ รื่นเริง เข้าใจโลกและเข้าใจความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์

หลังจากที่ใช้ชีวิตต่างแดนทั้งยุโรปและอเมริกาเขาก็ได้หวนกลับคืนสู่แผ่นดินเกิด โดยมาใช้ชีวิตอย่างอิสระที่บ้านป่าซางน้อยพร้อมกับคู่ชีวิตของเขา “เวนีเซีย วอล์คกี” หรือ ชื่อไทย “วนิดา วงศ์สาม” สร้างสรรค์งานศิลปะในแนวธรรมะ แสวงหาความสุขหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์และสร้างสันติภาพให้เกิดกับโลกมนุษย์

งานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ในอุทยานธรรมแกเลอรี่เป็นแนวคิดที่ได้มาจากสัจธรรมหรือความจริงอันเป็นคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่ผู้มีปณิธานแรงกล้าในการเรียนรู้และปฏิบัติตามแนวทางที่พระองค์ทรงสั่งสอนให้

งานประติมากรรมของอินสนธิ์ มักมีขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง ผลงานยุตแรกทำด้วยโลหะทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม ระบายสีฉูดฉาดตามสไตล์ของศิลปะอเมริกันสมัยใหม่ จากนั้นค่อย ๆ พัฒนามาสู่ความเป็นตัวของตัวเอง ศิลปินได้ละทิ้งรูปทรงเรขาคณิต หันมาให้ความสำคัญกับรูปทรงที่จินตนาการขึ้นมาใหม่จากสภาวะจิตที่เขาได้สัมผัส อีกทั้งวัสดุก็เปลี่ยนมาใช้ไม้แทน และจงใจโชว์ให้เห็นลวดลายของเนื้อไม้ตามธรรมชาติ

” งานศิลปะที่ทำขายส่วนใหญ่เป็นงานไม้แกะสลัก สาเหตุที่ต้องใช้ไม้เป็นวัตถุดิบก็เพราะสมัยก่อนไม้จะหาง่ายไม่ต้องซื้อ เดิน ๆ เข้าไปในป่าก็ได้ไม้ออกมาแล้ว”

อินสนธิ์บอกว่าอุทยานธรรมะแกลเลอรี่สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้าผ่านงานศิลปะ ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคเหนือ ส่วนใหญ่งานที่จัดแสดงเป็นงานทางด้านประติมากรรม มีทั้งงานแกะสลักไม้ แกะหิน งานโลหะซึ่งศิลปินส่วนใหญ่จะรู้จักในชื่อว่า “ประติมากรรมเล่นได้” เพราะงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นสามารถที่จะเคลื่อนไหวได้

นอกจากนี้ในบริเวณอุทยานธรรมฯยังมีอาคารโถงคล้ายอุโบสถ มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ภายในอาคารตกแต่งด้วยประติมากรรมสีขาวบริสุทธิ์อันเป็นผลงานของป้าแหม่มหรือวนิดา วงศ์สาม ตรงกลางของอาคารมีแท่งบิดเกลียวเปิดให้มีกระแสน้ำไหลวนจากบนลงล่างและแตกกระจายฟ่องอันเป็นสัญลักษณ์ของการเวียนว่ายตายเกิด มีชื่อว่า “น้ำพุแห่งปัญญา” ถือว่าเป็นศูนย์กลางแห่งปัญญาทั้งหมด รายรอบของห้องได้ตกแต่งด้วยประติมากรรมชุด ปฏิจสมุปบาท มีจำนวน 12 ชิ้น ซึ่งหมายถึงโซ่แห่งอวิชชา 12 ห่วง ที่คอยร้อยรัดขัดขวางมิให้มนุษย์สามารถหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ด้านนอกตัวอาคารมีสะพานมรรค 8 ข้ามคลองเล็ก ๆ ซึ่งเป็นตัวเชื่อมทางเดินจากโครงการไปจนถึงอุทยานฯของศิลปิน

ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ สวนมรดกและอุทยานธรรมะแกลเลอรี่แห่งนี้จะเนืองแน่นไปด้วยสาธุชนที่มุ่งหน้ามาชมความอัศจรรย์ของศูนย์กลางพุทธศาสนาร่วมสมัย อุทยานธรรมะแกลเลอรี่ยังสามารถใช้เป็นสถานที่พักผ่อนและฝึกปฏิบัติสมาธิสำหรับผู้ที่สนใจทุกท่าน นอกจากนี้ยังสามารถใช้สถานที่อุทยานธรรมฯเป็นห้องจัดแสดงผลงานทางศิลปะ
อุทยานธรรมะแกลเลอรี่ของอินสนธิ์และวนิดา วงศ์สามถือเป็นแนวทางใหม่ของงานศิลปะ (Post modern) ที่สะท้อนชีวิตและแนวคิดของศิลปินเกี่ยวกับศาสนาผ่านงานศิลปะ อันเป็นแนวทางหนึ่งที่จะให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักและรักในงานศิลปะมากยิ่งขึ้น

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น