ททท. จัดทำโครงการ “วิชา 9 หน้า” ศาสตร์พระราชา

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดทำโครงการ “วิชา๙หน้า” ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ อันเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “ตามรอยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการน้อมนำหลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา อันเป็นหลักการทรงงานของพระองค์ท่าน จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ เกิดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและการพัฒนาประเทศในทุกด้าน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าโครงการ “วิชา๙หน้า” ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ เพื่อเป็นการนำเสนอศาสตร์พระราชาในรูปแบบใหม่ ให้ประชาชนทั่วไปและคนรุ่นใหม่สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น ผ่านคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย วีดีโอสารคดีและหนังสือ ชุด “วิชา๙หน้า” ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ นำเสนอ 9 วิชา ผ่าน 9 บุคคล ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดในแวดวงต่างๆ มาเป็นผู้ถ่ายทอดแต่ละ “วิชา” ที่ได้ไปสัมผัสจริงในชุมชนต่างๆ โดยมีศาสตร์พระราชาเป็นแกนหลักของแต่ละ “บท” ผ่านการ “ท่องเที่ยวชุมชน” ที่แต่ละชุมชนได้น้อมนำหลักการและแนวคิดของพระองค์เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตและพัฒนาชุมชนให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

1. วิชาปรุงไทยในใจคน : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร โดย คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่ววว่า รัชกาลที่ 9 ทรงมุ่งเน้นอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้สืบต่อเนื่องยาวนาน “ปรุง” ความรักษ์ไทยสู่ใจชาวไทยและอนุชนรุ่นหลัง ด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในชาติของตน และเผยแพร่ให้ชาวโลกได้ประจักษ์

2. วิชาชลปราการ : เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก โดยคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

กล่าวว่าเขื่อนของพ่อ “ปราการ” ที่ใช้ปกป้องบรรเทาปัญหาอุทกภัยไม่ให้เข้าท่วมจังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และยังเป็นปราการที่ใช้เก็บกักน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงชีวิตชาวไทย ขณะเดียวกันในฤดูแล้ง น้ำจากเขื่อนก็จะถูกระบายเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวอีกด้วย

3. วิชาหมอดิน : ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี โดยคุณบอย โกสิยพงษ์ นักแต่งเพลงชื่อดัง กล่าวว่าปัญหาดินเสื่อมโทรมต้องรักษาด้วยการเพิ่ม “วิตามินของดิน” เพื่อฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง แก้ปัญหาที่ทำกินของตนเองให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ในที่สุด อาทิ การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ป่าเติบโตตามในวิถีธรรมชาติ การปลูกหญ้าแฝก ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การรักษาความชุ่มชื้นของดิน

4. วิชาหลอกฟ้า : ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยคุณกรรณ สวัสดิ์วัฒน์ ณ อยุธยา นักแสดงมาดเซอร์
กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งเป็นทุกข์ของราษฎร พระองค์จึงได้ทรงค้นงานวิจัยจากต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อศึกษาหาความเป็นไปได้ในการทำฝนเทียม โดยได้ใช้สนามบินบ่อฝ้าย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการทดลอง ฝนที่ในหลวงทรงสร้าง จากศาสตร์ของการหลอกฟ้า ที่ทั้งค้นคิด และทดลอง ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามานานถึง 14 ปี ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยชาวบ้านนับแสนนับล้านให้รอดพ้นวิกฤติ จนผู้คนขนานนามว่า ‘ฝนหลวง’

5. วิชาธรรมชาติสามัคคี : โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดําริภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก โดยคุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day และ The Standard กล่าวว่าชาวม้งที่ภูหินร่องกล้าส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่นกับกะหล่ำปลี จึงมักจะเข้าไปบุกรุกเผ้าถางพื้นที่ป่าสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงหยิบยกแนวทางพระราชดำริมาเป็นฐานเพื่อแก้ไขปัญหา โดยสนับสนุนให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาปลูกพืชที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ อย่าง กาแฟอาราบิก้า และสตรอเบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 โดยผลผลิตนำไปจำหน่ายนักท่องเที่ยวที่มาชมความงามของทุ่งดอกกระดาษและดอกดงพญาเสือโคร่ง ซึ่งชาวเขาช่วยกันปลูกเพื่อทดแทนผืนป่าเดิมบนยอดดอยที่ถูกบุกรุกทำลายจนมีสภาพเป็นเขาหัวโล้น พร้อมปลูกฝังแนวคิดเรื่องป่าไม้เป็นเรื่องของทุกคน “คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน” ด้วยการสอนให้ชาวเขา รู้จักวิธีดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการทำแนวป้องกันไฟป่า การดูแลพันธุ์พืชสัตว์ป่า การดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติ ฯลฯ ส่งผลให้ภูหินร่องกล้า กลับมาอุดมสมบูรณ์ในระยะเวลาไม่นาน

6. วิชาตำนานพันธุ์ : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร โดยคุณวิศุทธิ์ พรนิมิตร นักวาดภาพประกอบ เจ้าของลายเส้น น้องมะม่วง, ควันใต้หมวก, hesheit กล่าวว่า ด้วยต้องการบรรเทาความทุกข์ของประชาชน ในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงโปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำงานของพระองค์ในภาคอีสาน พร้อมโปรดฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นสถานที่ทดลองแนวพระราชดำริต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตร เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ในในฤดูแล้ง การหาข้าวพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และอีกโครงการหนึ่งซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ คือการเลี้ยงสัตว์ โดยในหลวงพระราชทานแนวทางง่ายๆ ว่า ต้องแข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่ายไม่ต้องลงทุนสูง ไม่เช่นนั้นหากมีอะไรผิดพลาด เกษตรกรจะกลายเป็นหนี้ จนเป็นที่มาของตำนาน 3 ดำแห่งภูพาน ซึ่งประกอบด้วย ไก่ดำภูพาน สุกรภูพาน โคเนื้อภูพาน

7. วิชารักแรงโน้มถ่วง : โครงการแก้มลิงในพระราชดำริทุ่งทะเลหลวง จ.สุโขทัย โดยคุณสุชาณัฐ ชิดไทย (คนตัวจิ๋ว) บล็อกเกอร์สุดครีเอทีฟเจ้าของเพจ “คนตัวจิ๋ว” กล่าวว่า เพราะความรักที่มีต่อสัตว์เลี้ยงของในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์จึงคอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ที่ทรงเลี้ยงอย่างใกล้ชิด และจากความสนพระทัยนี้จะถูกต่อยอดมาเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่สาคัญของประเทศ “แก้มลิงรูปหัวใจ” ระบายน้ำจากตอนบนสู่คลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่ชายทะเล เมื่อระดับน้ำในทะเลลดต่ำกว่าในคลองก็ระบายน้ำออกจากคลองทางประตูระบายน้ำด้วยหลักการแรงโน้มถ่วงของโลก

8. วิชาปลูกรักษ์ : สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ โดยน้องชื่นใจ และคุณแม่-คุณพนิดา เอี่ยมศิรินพกุล อดีตบรรณาธิการและนักเขียน สำนักพิมพ์ polka dots และลูกสาวไอดอลวัยจิ๋วขวัญใจชาวเน็ต กล่าวว่า ใครจะเชื่อว่าปัญหาการปลูกฝิ่นที่อยู่คู่สังคมไทยมานานกว่า 600 ปีจะหายไป ด้วยพระอัจฉริยภาพที่เกิดจากการมองปัญหาอย่างรอบด้านลึกซึ้งของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำให้สามารถเอาชนะปัญหาที่เกาะกินสังคมไทยมายาวนานได้ เริ่มจากการ “ปลูกป่าในใจคน” นั่นก็คือควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็พากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง จากกาแฟต้นแรกของพ่อที่ให้ชาวเขาปลูกแทนการปลูกฝิ่นจนกระทั่งเปลี่ยนจากฝิ่นกลายเป็นเมืองกาแฟในปัจจุบัน เช่นเดียวกับบนยอดดอยที่หวนคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

9. วิชานิเวศปฐมวัย : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี โดยคุณชุดารี เทพาคำ เชฟตาม Top Chef Thailand คนแรกของประเทศไทย กล่าวว่า สัตว์น้ำตัวเล็กๆ ก็เหมือนกับเด็ก หากไม่มีการดูแลที่ดี โอกาสที่จะเจริญเติบโตเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ก็คงลำบาก ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงเป็นสำเหตุว่าทำไมถึงโปรดฯ ให้จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2524

นอกจากนี้ยังร่วมกับมูลนิธิสังคมสุขใจจัด เวิร์คช้อปพัฒนาชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมตามแผนแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เศรษฐกิจภายในประเทศของกลุ่มจังหวัด โดยมุ่งเน้นในการต่อยอดศาสตร์พระราชาในการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความเข้มแข้งและยั่งยืนผ่านการท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และก่อให้เกิดโอกาสด้านการท่องเที่ยวตามมาอีกมากมาย

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถชมวิดีโอสารคดี ทั้ง 9 ตอน ได้ทาง Facebook Fan page : เที่ยวไทยเท่ และสามารถรับหนังสือฟรี ได้ที่สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทั่วประเทศ และสถานีบริการน้ำมันบางจากที่เข้าร่วมโครงการ หรือดาวน์โหลดฟรีที่ www.tourismthailand.org

ร่วมแสดงความคิดเห็น