พระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ ๙ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ตลอด 60 ปี ภายใต้ร่มฉัตรแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พสกนิกรชาวไทยต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและต่างรู้ซึ้งถึงพระอัจฉริยภาพรอบด้านของพระองค์ โครงการพระราชดำริหลายโครงการนอกจากจะแสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ที่ทรงมี ต่อปวงชนชาวไทยแล้ว ยังยืนยันถึงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย

โครงการฝนหลวง
ทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำในบรรยากาศ

ในปี พ.ศ.2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ย่านบริเวณเทือกเขาภูพานทรงสังเกตว่า มีปริมาณเมฆมากปกคลุมเหนือพื้นที่ระหว่างเส้นทางบิน แต่ไม่สามารถรวมตัวจนเกิดเป็นฝนตกได้ทั้งที่เป็นช่วงฤดูฝน และทรงพบเห็นว่าหลายแห่งประสบปัญหา พื้นดินแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูเพาะปลูก เกษตรกรมักประสบความเดือดร้อนจากภาวะ
ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ในระยะวิกฤติของพืชผล ทำให้ผลผลิตต่ำ หรืออาจไม่มีผลผลิตเลยและอาจทำให้ ผลผลิตที่มีอยู่เสียหายได้ จึงเป็นความเดือดร้อนอย่างสาหัส และก่อให้เกิดความสูญเสีย ทางเศรษฐกิจ แก่เกษตรกรอย่างใหญ่หลวง

นอกจากนี้ความต้องการใช้น้ำมีมากขึ้น เพราะการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรกรรม และการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งมีผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนจากทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ ไม่เพียงพอ ซึ่งเห็นได้ชัดจากปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลที่ลดลงอย่างน่าตกใจ ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล และทรงความอัจฉริยะของพระองค์ด้วยคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ ทรงสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้น และได้มีพระราชดำริครั้งแรกในปี พ.ศ.2498 แก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่าจะทรงค้นหา วิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตกนอกเหนือจากที่จะได้รับจากธรรมชาติโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์กับทรัพยากร ที่มีอยู่ให้เกิดมีศักยภาพของการเป็นฝนให้ได้ “ฝนหลวง” หรือ “ฝนเทียม” จึงกำเนิดขึ้นโดยประยุกต์ผลการวิจัยค้นคว้าทางวิชาการด้านฝนเทียมของประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอิสราเอล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวิเคราะห์การทำฝนหลวงว่ามี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน เป็นการกระตุ้นให้เมฆรวมตัวเป็นกลุ่มแกน เพื่อใช้เป็นแกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝนในระยะต่อมา สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ แคลเซียมคลอไรด์แคลเซียมคาร์ไบด์ แคลเซียมออกไซด์ หรือสารผสมระหว่าง เกลือแกงกับสารยูเรียหรือสารผสม

ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน ขั้นตอนนี้ใช้สารเคมี คือ เกลือแกง สารประกอบสูตร ท.1 สารยูเรีย สารแอมโมเนียไนเตรท น้ำแข็งแห้ง และอาจใช้สารแคลเซียมคลอไรด์ร่วมด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มแกนเม็ดไอน้ำ (Nuclii) ให้กลุ่มเมฆฝน มีความหนาแน่นมากขึ้น

ขั้นตอนที่ 3 โจมตี สารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนนี้เป็นสารเย็นจัด คือซิลเวอร์ไอโอไดน้ำแข็งแห้ง เพื่อทำให้เกิดภาวะความไม่สมดุลมากที่สุด ซึ่งจะเกิดเป็นเม็ดน้ำ ที่มีขนาดใหญ่มาก และตกกลายเป็นฝนในที่สุด อย่างไรก็ดี ทุกขั้นตอนจะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการตัดสินใจที่จะเลือกใช้สารเคมีในปริมาณที่พอเหมาะ

โครงการแก้มลิง กักตุนแล้วระบายน้ำตามแรงโน้มถ่วง
นอกจากปัญหาภัยแล้งแล้ว “น้ำท่วม” ก็เป็นอีกภัยธรรมชาติที่ทำให้น้ำตาไทยเอ่อล้น โครงการแก้มลิง เป็นอีกโครงการที่ช่วยซับความเดือดร้อนของประชาชนชาวไทยซึ่งดำเนินการโดยระบายน้ำจากตอนบนให้ไปตามคลองในแนวเหนือใต้สู่คลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่ชายทะเล เมื่อระดับน้ำในทะเลลดต่ำกว่าในคลองก็ระบายน้ำออกจากคลองทางประตูระบายน้ำด้วยหลักการแรงโน้มถ่วงของโลก

ทั้งนี้ โครงการแก้มลิงเปรียบเหมือนการกินกล้วยของลิงซึ่งจะเก็บกล้วยไว้ที่แก้มก่อนจะค่อย ๆ นำมาเคี้ยวและกินภายหลัง เมื่อนำมาใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมก็ขุดคลองต่างๆ เพื่อชักน้ำมารวมกันไว้เป็นบ่อพักที่เปรียบได้กับแก้มลิง แล้วค่อย ๆ ระบายน้ำลงทะเลเมื่อน้ำทะเลลดลง ผลจากดำเนินการโครงการดังกล่าวจึงช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นที่ลุ่มทำให้ระบายน้ำออกได้ล่าช้า

กังหันน้ำชัยพัฒนา ปั่นน้ำเสียเติมออกซิเจน
กังหันน้ำชัยพัฒนา คือ เครื่องกลเติมอากาศที่เป็นกังหันน้ำแบบทุ่นลอยซึ่งใช้ในการบำบัดน้ำเสีย โดยใช้กังหันวิดน้ำไปบนผิวน้ำแล้วปล่อยให้ตกลงผิวน้ำตามเดิมและน้ำจะถูกสาดกระจายสัมผัสอากาศทำให้ออกซิเจนละลายในน้ำ น้ำเสียจึงมีคุณภาพดีขึ้น สามารถนำไปใช้บำบัดน้ำเสียทั้งจากแหล่งชุมชน อุตสาหกรรมและการเกษตร

ทั้งนี้ แนวทางของการพัฒนามาจากสภาพเน่าเสียของแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริว่าจำเป็นต้องบำบัดน้ำเสียด้วยเครื่องกลเติมอากาศ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบฯศึกษาและวิจัยร่วมกับกรมชลประทานผลิตเครื่องต้นแบบขึ้นในปี 2532 จากนั้นก็มีการพัฒนามาอีกหลายรุ่น และในปี 2536 กังหันน้ำชัยพัฒนาก็ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย กังหันบำบัดน้ำเสีย “สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย” เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำแก่ปวงชน ด้วยการหมุนปั่นเพื่อเติมอากาศให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี สามารถประยุกต์ใช้บำบัดน้ำเสียจากการอุปโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มออกซิเจนให้กับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร

ทั้งนี้ การเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำจะช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการทางชีวภาพที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและใช้ค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียน้อย และแหล่งน้ำเสียที่กระจายไปตามแหล่งต่าง ๆ จึงทำให้ยากแก่การรวบรวมน้ำเสียเพื่อนำไปบำบัดในโรงบำบัดน้ำเสีย และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

 

ตามทฤษฎีเครื่องกลเติมอากาศ นับว่าการเติมอากาศหรือออกซิเจนเป็นหัวใจของระบบบำบัดน้ำเสีย เพราะถ้ามีออกซิเจนอยู่มากจุลินทรีย์ก็สามารถบำบัดน้ำได้ดีและบำบัดน้ำเสียได้มากขึ้น แต่ที่ความดันบรรยากาศซึ่งเป็นความดันที่ค่อนข้างต่ำสำหรับออกซิเจนในการละลายน้ำ จึงต้องมีการเพิ่มพื้นที่สัมผัสระหว่างอากาศกับน้ำให้ได้มากที่สุด

กังหันน้ำชัยพัฒนา คือ สิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากพระปรีชาสามารถและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อการแก้มลพิษทางน้ำซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งสร้างเครื่องต้นแบบได้ครั้งแรกในปี 2532 การประยุกต์ใช้งานสามารถใช้ประโยชน์เพื่อเติมอากาศให้กับน้ำหรือใช้เพื่อขับ เคลื่อนน้ำได้ โดยการใช้งานทั้งในรูปแบบที่ติดตั้งอยู่กับที่และใช้ในรูปแบบเคลื่อนที่ เพื่อเติมอากาศให้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือตามคลองส่งน้ำที่มีความยาวมาก ซึ่งดัดแปลงได้ด้วยการใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ของกังหัน

กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 หลังจากเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่สนองพระราชดำริใน การพัฒนากังหันน้ำได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยื่นขอรับสิทธิบัตร เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2535 จึงนับว่าเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และครั้งแรกของโลก และถือว่าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากนี้ “กังหันชัยพัฒนา” ยังได้รับรางวัลเหรียญทองจาก The Belgian Chamber of Inventor องค์กรทางด้านนวัตกรรมที่เก่าแก่ของเบลเยียม ภายในงาน “Brussels Eureka 2000” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

หลักการและวิธีการทำงานของกังหันน้ำชัยพัฒนา
กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นเครื่องกลเติมอากาศแบบทุ่นลอย สามารถปรับตัวขึ้นลงได้ตามระดับขึ้นลงของผิวน้ำ ในแหล่งน้ำเสีย มีส่วนประกอบสำคัญคือ 1. โครงกังหันน้ำรูป 12 เหลี่ยม 2.ซองบรรจุน้ำติดตั้งโดยรอบ จำนวน 6 ซอง รูซองน้ำพรุนเพื่อให้น้ำไหลกระจายเป็นฝอย 3.ซองน้ำจะถูกขับเคลื่อนให้หมุนโดยรอบด้วยเกียร์มอเตอร์ ซึ่งทำให้การหมุน
เคลื่อนที่ของซองน้ำ วิดตักน้ำด้วย ความเร็ว สามารถวิดน้ำลึกลงไปจากใต้ผิวน้ำประมาณ 0.50 เมตร ยกน้ำสาดขึ้นไปกระจายเป็นฝอยเหนือผิวน้ำ ได้สูงถึง 1 เมตร ทำให้มีพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างน้ำกับอากาศมากและส่งผลให้ออกซิเจนสามารถละลายเข้าไปในน้ำได้อย่างรวดเร็ว 4.ในขณะที่น้ำเสียถูกยกขึ้นไปสาดกระจายสัมผัสกับอากาศแล้วตกลงไปยังผิวน้ำนั้น จะก่อให้เกิดฟองอากาศ จมตามลงไปใต้ผิวน้ำด้วย ในขณะที่ซองน้ำกำลังเคลื่อนที่ลงสู่ผิวน้ำแล้วกดลงไปใต้ผิวน้ำนั้น จะเกิดการอัดอากาศภายในซองน้ำ ภายใต้ผิวน้ำ จนกระทั่งซองน้ำจมน้ำเต็มที่ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงขึ้น หลังจากนั้นน้ำที่ได้รับการเติมอากาศแล้วจะเกิดการถ่ายเทของน้ำเคลื่อนที่ออกไปด้วยการผลักดันของของน้ำ

เขื่อนดิน อ่างเก็บน้ำที่ไม่ใช้คอนกรีต
เขื่อนดินเป็นแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินตามแนวพระราชดำริ ตัวเขื่อนนิยมก่อสร้างด้วยการถมดินและบดอัดจนแน่น สามารถส่งน้ำไปตามท่อส่งน้ำได้เพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างปลาและกุ้งน้ำจืดได้ นอกจากนี้เขื่อนดินยังเป็นปราการที่ไม่เพียงบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำหากแต่ยังป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย ส่วนความจุของปริมาณขึ้นอยู่กับความสูงของเขื่อน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งก็จะทรงปล่อยลูกปลา ลูกกุ้งเพื่อพระราชทานแก่ราษฎรในบริเวณนั้นให้มีแหล่งอาหารสำหรับบริโภค ทั้งนี้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำห้วยซับตะเคียน จ.ลพบุรี อ่างเก็บน้ำคลองหลา จ.สงขลา รวมทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ใน จ.ลพบุรี และ จ.สระบุรี ซึ่งเก็บน้ำได้มากถึง 960 ล้านลูกบาศก์เมตรไบโอดีเซล จากปาล์มประกอบอาหารสู่เชื้อเพลิงเครื่องยนต์

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนผ่านโครงการส่วนพระองค์มาตั้งแต่ปี 2522 โดยมีโครงการผลิตแก๊สชีวภาพ เอทานอล แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลจากปาล์ม ซึ่งในส่วนของพระราชดำริด้านการพัฒนาน้ำมันปาล์มเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลนั้น การพัฒนาไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มในชื่อ “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล” ได้จดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2544 อีกทั้งในปี 2546 ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลจาก “โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม” ในงาน “บรัสเซลส์ ยูเรกา” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ทั้งนี้ปาล์มเป็นพืชที่ให้ปริมาณน้ำมันต่อพื้นที่ปลูกสูง อีกทั้งเกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ภายในประเทศ ซึ่งจะใช้ทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้

แหลมผักเบี้ย-หนองหาร โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัญหาที่ได้รับการแก้ไขด้วยโครงการพระราชดำริ โดยส่วนของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยเป็นโครงการตาม แนวพระราชดำริในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะมูลฝอย และรักษาสภาพป่าชายเลน ทั้งนี้ แบ่งการบำบัดเป็น 2 ส่วนคือระบบบำบัดหลักและระบบบำบัดรอง สำหรับระบบบำบัดหลักนั้น ซึ่งมีบ่อสำหรับตกตะกอนและปรับสภาพน้ำเสียจำนวน 5 บ่อ โดยส่งน้ำเสียผ่านท่อไปยังบ่อบำบัดและในบ่อสุดท้ายจะมีคณะวิจัยตรวจสอบ คุณภาพน้ำก่อนส่งต่อ

ส่วนระบบบำบัดรองนั้นอาศัยการบำบัดโดยธรรมชาติ ประกอบด้วย 1.ระบบบึงชีวภาพ ซึ่งจะปลูกพืชที่สามารถเจริญ
ได้ดีในน้ำขังเสีย ดูดซับสารพิษและสารอินทรีย์ได้ เช่น กก อ้อ เป็นต้น 2.ระบบกรองน้ำเสียด้วยหญ้า เช่น หญ้าเนเปีย หญ้าแฝก หญ้านวลน้อย หญ้ารูซี่ เป็นต้น โดยจะส่งน้ำเสียไปขังในแปลงหญ้าเป็นระยะ ๆ 3.ระบบกรองด้วยป่าชายเลน โดยในพื้นที่ป่าชายเลนจะปลูกโกงกาง แสมขาว เป็นต้น เพื่อให้มีสภาพใกล้เคียงธรรมชาติ น้ำที่ผ่านป่าชายเลนก็จะได้การบำบัดตามธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีโครงการตามพระราชดำริเพื่อบำบัดน้ำเสียใน อ.เมือง จ.สกลนคร ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้วิจัยและพัฒนาระบบ บำบัดน้ำเสีย โดยได้ทรงทอดพระเนตรน้ำเสียบริเวณหนองสนม ข้างโรงงานผลิตน้ำประปา ซึ่งมีแนวทางแก้คือรวบรวมน้ำเสียมาระบายลงหนองหารเป็นจุดเดียวกัน เพื่อจัดทำโครงการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติรวมกับการใช้เทคโนโลยีแบบ ประหยัด

น้ำเสียจากตัวเมืองสกลนครจะถูกรวบรวมโดยระบบท่อส่งและผ่านการบำบัดให้ดีในระดับหนึ่ง ก่อนส่งต่อไปยังแปลงพืชน้ำบำบัดแล้วระบายลงสู่หนองหารต่อไป สำหรับพืชน้ำที่ใช้บำบัดน้ำเสีย ได้แก่ ธูปฤาษี กกเล็ก แพงพวยน้ำ บอน ผักตบชวา หญ้าปล้องละมาน เป็นต้น

แกล้งดิน เร่งกำมะถันทำปฏิกิริยา ไล่หน้าดินเปรี้ยว จาก ปัญหาดินเปรี้ยวในบริเวณป่าพรุที่ถูกน้ำท่วม ในจังหวัดนราธิวาส เนื่องจากมีสารประกอบไพไรท์ซึ่งมีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้ทดลอง “แกล้งดิน” ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนแล้วปลดปล่อยกำมะถันออกมา ทำให้ดินเปรี้ยวจัดจากนั้นปรับปรุงดินด้วยการใช้น้ำร่วมกับปูนมาร์ลหรือปูน ฝุ่นแล้วไถพลิกกลบดิน ความเป็นเบสของปูนจะทำให้ดินซึ่งเปรี้ยวจัดถูกกระตุ้นให้ “ช็อก” จึงปรับสภาพสู่สภาวะปกติ จนกระทั่งเพาะปลูกข้าวได้

การปรับพื้นที่และยกร่องก็เป็นวิธีระบายกรดบนหน้าดินอีกทางหนึ่ง ส่วนจะปลูกพืชชนิดใดนั้นต้องปรับพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น หากจะปลูกข้าวต้องปรับดินให้ลาดเอียงเพื่อให้น้ำไหลออก หากจะปลูกผักหรือพืชไร่อื่นให้ยกร่องและทำคูเพื่อป้องกันน้ำท่วม

นอกจากนี้ยังต้องใส่ปูนขาวเพื่อปรับให้ดินเป็นกลาง หรืออาจจะใช้น้ำจืดชะล้างก็ได้แต่ใช้เวลานาน

หญ้าแฝก รากฝังลึกอนุรักษ์หน้าดิน ด้วยระบบรากของ “หญ้าแฝก” ที่ฝังลึกไปในดินตรง ๆ และแผ่กระจายเหมือนกำแพงจึงช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลผ่านหน้าดิน ช่วยเก็บความชุ่มชื้นของดินไว้และป้องกันการพังทลายของหน้าดิน จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ดิน เช่น ปลูกตามพื้นที่ลาดชันหรือบริเวณเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะของหน้าดิน ปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรม และยังใช้ปลูกป้องกันสารพิษปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ เป็นต้น

ผลจากการดำเนินงานตามพระราชดำริในการศึกษาให้ทราบพันธุ์และหาวิธีปลูกหญ้าแฝก ที่เหมาะสมเพื่อเผยแพร่ในพื้นที่ ๆ ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ทำให้สมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ (International Erosion Control Association: IECA) มีมติถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s International Merit Award แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้ อนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2536

นอกจากนี้พระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่คนในวงการ วิทยาศาสตร์ควรจะน้อมนำเป็นแบบอย่างและแนวทางเพื่อการพัฒนางานที่อยู่สู่การพัฒนาประเทศ

ด้านสื่อสารอิเล็กโทรนิค เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ร่วมแสดงความคิดเห็น