ในหลวง กับวงการ กีฬาไทย สนใจกีฬา เรือใบ เป็นพิเศษ

“ธ. สถิตในใจไทยนิรันดร์ ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดการเล่นกีฬามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โปรดกีฬาหลายประเภท เช่น สกีน้ำแข็ง, ยิงปืน, กอล์ฟเล็ก, การแข่งขันรถเล็ก, เทนนิส, แบดมินตัน, เครื่องร่อน โดยทรงกีฬาเหล่านี้มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงศึกษาข้อมูลของกีฬาแต่ละประเภทอย่างละเอียด และทรงฝึกฝนจนปฏิบัติได้ดี นับเป็นแบบอย่างที่ดีของนักกีฬา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพกฎกติกาของการกีฬาที่ทรงเล่น และมักจะทรงเน้นย้ำให้นักกีฬาทั้งหลายมีวินัยตลอดเวลา ทรงให้ความสำคัญต่อการฝึกซ้อมเป็นอันมาก ทรงสนพระราชหฤทัยกีฬาที่มีโอกาสได้ฝึกซ้อม ด้วยทรงเห็นว่าการจะเป็นนักกีฬาที่ดีนั้น ต้องให้ความสนใจในการฝึกซ้อม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับปรุงตนเอง มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น ถ้านักกีฬาคนใดไม่ฝึกซ้อม ก็จะเป็นนักกีฬาที่ดีไม่ได้ แต่ด้วยพระราชภารกิจอันมากมายของพระองค์ กีฬาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนั้น ส่วนมากจะทรงเป็นระยะๆ บางช่วง ด้วยไม่สะดวกที่จะทรงฝึกซ้อมเป็นประจำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการกีฬาไว้ว่า “การกีฬามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตบ้านเมือง” พระราชดำรัสนี้แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานในเรื่องการส่งเสริมการกีฬาว่า เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ จึงทรงส่งเสริมกีฬาทุกประเภท พร้อมทั้งทรงกีฬามากมายหลายประเภทเช่นกัน
พระปรีชาสามารถด้านเรือใบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ เนื่องจากพระองค์ท่านโปรดปรานการช่างอยู่แต่เดิมแล้ว เรือใบของพระองค์จะทรงต่อด้วยพระองค์เอง และจะทรงทดลองแล่นในสระน้ำภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเป็นเรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยพระราชทานชื่อเรือว่า “ราชปะแตน” และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภท โอเค ขึ้นอีก พระราชทานชื่อว่า “นวฤกษ์” ซึ่ง เรือนวฤกษ์ นี้เอง ทรงนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4
“พ่อหลวง” กับวงการกีฬาไทย thaihealth
นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงคิดค้น ออกแบบ และสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เองอีก พระราชทานชื่อว่า “เรือใบแบบมด” ทรงมีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บๆ คันๆ ดี” ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่ โดยพระราชทานชื่อว่า เรือใบ “แบบซูเปอร์มด” และเรือใบในตระกูลมดนี้ ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบคือเรือใบ “แบบไมโครมด” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลาย
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงต่อเรือขึ้นมาอีกลำหนึ่งเป็นเรือใบประเภท โอเค พระราชทานชื่อเรือว่า “VEGA” หรือ เวคา (ชื่อดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่สุกสว่างมาก) ทรงใช้เรือลำนี้เสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากวังไกลกังวลหัวหิน ไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงามในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินด้วยลำพังพระองค์เอง เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2509 ซึ่งในการต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือ เวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังทรงก่อตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้นคือ สโมสรเรือใบจิตรลดา ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณรับสโมสรเรือใบต่างๆ มาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น สโมสรเรือใบราชวรุณ สโมสรเรือใบกรมอู่ทหารเรือ สโมสรเรือใบฐานทัพเรือสัตหีบ สโมสรเรือใบนาวิกโยธิน และสโมสรเรือใบกองเรือยุทธการ เป็นต้น
ในพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งที่ 18 ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งตรงกับพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี นายฟรานซ์ เบคเคนเบาเออร์ ประธานจัดการแข่งขัน ได้กล่าวสดุดีพระเกียรติยศในด้านการกีฬาของพระองค์ท่านด้วย
ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงพระปรีชาสามารถทางการกีฬาจนเป็นที่เลื่องลือ ได้มีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาอันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ และได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิก คือ “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง)” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2530 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยในรอบ 700 ปี ที่ทรงได้รับเกียรติยศดังกล่าว นับตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ สถาปนาไทยมา

นอกจากนี้ สภามหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2534
ทรงร่วมแข่งขันกีฬาแหลมทองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าร่วมแข่งขันกีฬาแหลมทอง (ปัจจุบันคือกีฬาซีเกมส์) ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม พ.ศ.2510 โดยทรงลงแข่งขันในกีฬาเรือใบประเภท โอเค ซึ่งเป็นเรือที่ทรงต่อเอง ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชธิดาพระองค์โต ทรงร่วมการแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยคนหนึ่ง ทรงซ้อมและเก็บตัวเหมือนนักกีฬาทั่วไป และทรงชนะเลิศการแข่งขันเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม โดยทรงขึ้นรับเหรียญทองบนแท่นเหมือนนักกีฬาทั่วไป ในพิธีปิด ณ สนามศุภชลาศัย ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ต่อมา คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันกีฬาแห่งชาติ
นอกจากนี้แล้ว ยังทรงรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5, 6 และ 8 รวมทั้งกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4, 8 และ 13 ซึ่งทั้งหมดนี้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดจนทรงเป็นองค์ราชูปถัมภ์ของสมาคมกีฬาสมัครเล่นหลายสมาคมอีกด้วยพระปรีชาสามารถด้านกีฬาแบดมินตัน “พ่อหลวง” กับวงการกีฬาไทย thaihealth กีฬาแบดมินตัน เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดปรานมาก เมื่อครั้งที่พระราชภารกิจยังไม่มากมายเหมือนเช่นปัจจุบันนี้ พระองค์ทรงนิยมเล่นหลายประเภท ทั้งประเภทคู่ และประเภทสามคน ในช่วงเวลานั้น
กีฬาแบดมินตันของประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า กีฬาแบดมินตันเป็นกีฬาหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถจะไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่เสียเปรียบทางด้านรูปร่าง และพละกำลังมากจนเกินไป มีรับสั่งถึงประเด็นนี้หลายครั้ง และต่อมาได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ให้กับสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแบดมินตันอย่างนักกีฬาโดยแท้ คือไม่ทรงแสดงอาการกริ้ว หรือพิโรธอย่างใดเมื่อทรงลูกเสีย หรือแม้กระทั่งผู้ที่ถวายตีลูกเสีย หรือทรงถูกกระทบกระทั่งถึงพระวรกาย จากความเข้มข้นในเกมการเล่น ก็ไม่ทรงถือพระองค์แต่อย่างใด อันแสดงให้เห็นว่า ทรงเป็นนักกีฬาที่มีน้ำใจนักกีฬาอย่างแท้จริง
นอกจากทรงแบดมินตันเป็นการส่วนพระองค์แล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการกีฬาแบดมินตันเป็นอันมาก ทรงสามารถวิเคราะห์ถึงการเล่น และรับสั่งวิจารณ์ถึงวิธีการเล่นของนักแบดมินตันระดับโลกแต่ละคนได้เป็นอย่างดี และทรงนำมาปรับปรุงเพื่อพัฒนาฝีมือเทคนิคการเล่นของพระองค์เอง กับทั้งทรงชี้แนะพระราชทานข้อแก้ไขเทคนิคการเล่นแก่นักกีฬาของไทยด้วยพระเมตตา และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ก่อเกิดการพัฒนาอย่างใหญ่หลวง แก่กีฬาแบดมินตันในประเทศไทย จนเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในเวทีแบดมินตันโลก ได้ในที่สุด
พระมหากรุณาธิคุณกับวงการมวย
กีฬามวย นับเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่นักกีฬาไทย สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้มากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระมหากรุณาธิคุณกับวงการมวยมาโดยตลอด โดยจะเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานทอดพระเนตรการชกของนักมวยไทยกับนักมวยต่างชาติหลายต่อหลายครั้ง เช่น การชกระหว่าง โผน กิ่งเพชร กับ ปาสคาล เปเรซ นักมวยชาวอาร์เจนตินา เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ.2503 ณ สนามมวยเวทีลุมพินี ซึ่งผลการชก โผนสามารถเอาชนะคะแนนเปเรซไปอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ ได้ครองตำแหน่งแชมป์โลกเป็นคนแรกของไทย หรือการชกระหว่าง ชาติชาย เชี่ยวน้อย กับ แอฟเฟรน ทอร์เรส นักมวยชาวเม็กซิกัน เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2513 ณ สนามกีฬากิตติขจร (ปัจจุบันคือ อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก) ผลการชก ชาติชายเป็นฝ่ายคะแนน ได้ครองแชมป์โลกเป็นสมัยที่ 2 เป็นต้น ซึ่งหลังจากการชกทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักมวยเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด และมีพระราชปฏิสันฐานอย่างเป็นกันเองและห่วงใย และจะพระราชทานเข็มขัดแชมป์โลก ให้ด้วย
และเมื่อครั้งที่ แสน ส.เพลินจิต เดินทางไปป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก ณ เมือง โอซากา ประเทศญี่ปุ่น กับฮิโรกิ อิโอกะ เมื่อ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2538 ผลการชกแสนเอาชนะน็อคไปได้ในยกที่ 10 หลังการแข่งขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งพระราชสาส์นผ่านทางกงสุลไทย ณ เมืองโอซากา ความว่า พระองค์ทอดพระเนตรการชกของแสนอยู่ผ่านทางโทรทัศน์ ทรงชมว่าแสนชกได้ดี ยังความปลาบปลื้มแก่แสนและคณะเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้แล้ว เมื่อ สมรักษ์ คำสิงห์ ชนะเลิศในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น รุ่นเฟเธอร์เวต ในกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 26 ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2539 ก่อนชกในรอบชิงชนะเลิศ สมรักษ์ให้สัมภาษณ์ว่า จะคว้าชัยชนะให้ได้ เพื่อนำเหรียญทองกลับไปร่วมสมโภชเป็นส่วนหนึ่งในงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปีด้วย และเมื่อสมรักษ์สามารถเอาชนะได้ ได้ครองเหรียญทองโอลิมปิกเป็นครั้งแรกของนักกีฬาไทย สมรักษ์ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าถวายเหรียญทองประวัติศาสตร์เหรียญนี้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่วงการกีฬาของชาติอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากการเอาพระทัยใส่ และทรงอุปถัมภ์การกีฬาหลายประเภทแล้ว ยังปรากฏพระราชกรณียกิจหลายประการอันเป็นคุณประโยชน์ และเป็นสิริมงคลอันสูงยิ่งแก่วงการกีฬา และนักกีฬาชาวไทยชั่วกาลนาน อันได้แก่ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่นักกีฬา และผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อการกีฬาในปีพุทธศักราช 2534 พุทธศักราช 2535 และพุทธศักราช 2536 สืบเนื่องจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ณ ประเทศจีน และการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 16 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ และการแข่งขันโอลิมปิก ครั้งที่ 25 ณ ประเทศสเปน ซึ่งนักกีฬาทีมชาติไทยได้สร้างชื่อเสียงและเกียรติประวัติแก่ประเทศชาติ
พระราชทานทุนนักกีฬา
พระราชทานทุนแก่นักกีฬาจากกองทุนโดยเสด็จพระราชกุศล อาทิ ทุนมวยไทยในมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันมวย โดยเสด็จพระราชกุศลได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการแข่งขัน พระราชทานทุนแก่นักกีฬาที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ดังที่ ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน นักแบดมินตันรองแชมป์โลกชายเดี่ยว ออล อิงแลนด์ 2 สมัย ได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์ไปศึกษาในประเทศอังกฤษ เป็นต้น
พระราชทานไฟพระฤกษ์ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาครั้งสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ หรือภายในประเทศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานไฟพระฤกษ์ให้แก่คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาครั้งนั้นๆ นำไปประกอบพิธีเปิดการแข่งขันทุกครั้ง โดยมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะ ผู้เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ครั้งหนึ่งความว่า “…..ไฟนั้นใช้ได้ดีก็จะเป็นประโยชน์ ใช้ไม่ดีก็เป็นผลเสีย การเล่นกีฬาทำให้ มีสุขภาพดี ขอให้ผู้เข้าแข่งขันกีฬาแห่งชาติมีน้ำใจนักกีฬา มีจิตใจเป็นนักกีฬา และขอให้การกีฬาช่วยกันทำให้เกิดความสามัคคี สร้างสรรค์ประเทศชาติให้รุ่งเรืองต่อไป…..”
พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ และพระราชทานพระบรมราโชวาท พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นักกีฬา และบุคลากรในวงการกีฬาเข้าเฝ้าฯ อย่างเป็นทางการ และเป็นการส่วนพระองค์อยู่เสมอ นับเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่นักกีฬา และผู้เกี่ยวข้องในวงการกีฬาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังพระราชทานพระบรมราโชวาทอันทรงคุณประโยน์ที่นักกีฬาต่างรับใส่เกล้าฯ และยึดถือปฏิบัติเสมอมา

ร่วมแสดงความคิดเห็น