(คลิป)มช. ร่วมหน่วยงานพันธมิตร วช. สนช. และ ปตท. เปิดแถลงความสำเร็จห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ แห่งแรกของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดแถลงความสำเร็จห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือ 4 หน่วยงาน พร้อมมอบใบรับรองระบบการจัดการคุณภาพ ISO 13485 หลังร่วมกันสนับสนุนงบประมาณ 28 ล้านบาท ในการสร้างและดำเนินการ พร้อมพัฒนาให้เกิดการต่อยอด ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยรสู่ภาคการผลิต และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0

เมื่อเวลา 10:00 น. วันที่ 30 ตุลาคม 2560 ที่บริเวณ 137 พิลลาร์เฮาส์ เชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร.วินิตา บุณโยดม หัวหน้าห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าทีมวิจัย , ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) , ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ดร.วิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการปิโตเลียม และปิโตเลียมเคมี บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือ 4 หน่วยงาน และพิธีมอบใบรับรองระบบการจัดการคุณภาพ ISO 13485

โดยทาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สนับสนุนงบประมาณ 28 ล้านบาท สร้าง “ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับการแพทย์ (Bioplastics Production Laboratory for Medical Application)” คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์คุณภาพสูงมาตรฐานสากลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยนักวิจัยไทย
ทั้งนี้ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนโยบายการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาให้เกิดการต่อยอด ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยรสู่ภาคการผลิต และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม

ซึ่งสนับสนุนนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 โดยโครงการวิจัยนี้ได้มีการกำหนดให้มีการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตในส่วนของอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้มีศักยภาพรับรองการแข่งขันในอนาคต ด้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจร ทำให้นักวิจัยในประเทศไทยรวมทั้งผู้ประกอบการด้านวัสดุทางการแพทย์สามารถซื้อเม็ดพลาสติกได้กิโลกรัมละประมาณ 80,000-90,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศที่สูงถึงกิโลกรัมละ 150,000-200,000 บาท

ขณะที่ทางด้าน ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า สำหรับโครงการวิจัย “การผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมได้คุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์” วช. และหน่วยงานพันธมิตรได้แก่ สนช. ปตท. และ มช. ได้ร่วมกันสนับสนุนโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง และในได้เห็ความสำเร็จของการทำงานร่วมกันจนเกิดเป็น โรงงานต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเกรดทางการแพทย์ เช่น พอลิเมอร์ดูดซึมได้ นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการดังกล่าวได้ผ่านการรับรองระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี “ตามมาตรฐานผลิตภัรฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี (มอก.2677-2558)” ภาตใต้โครงการจัดทำกระบวนการตรวจประเมินและรับรองห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมีของสำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อีกด้วย

ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่สำคัญในการสร้างนวัตกรรมที่เกิดจากการต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนา โดยมีการสนับสนุนความร่วมมือและขับเคลื่อนนวัตกรรมจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ได้ริเริ่มและเป็นแกนกลางในการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับเป็นรูปแบบการสร้างนวัตกรรมจากผลงานวิจัยต่างๆ ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยสอดคล้องกับบทบาทของ สนช. ที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

โดยได้วิเคราะห์และพัฒนากลไกการสนับสนุนเพื่อตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเภท ตั้งแต่การสนับสนุนในช่วงเริ่มต้น การสร้างต้นแบบไปจนถึงการขยายผลเชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม และการพัฒนาสู่ระดับผู้นำด้านนวัตกรรม ดังนั้นหากมีภาคเอกชนที่มีความสนใจในการพัฒนานวัตกรรมผลิตวัสดุและเครื่องมือแพทย์สู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เกิดขึ้นในประเทศได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์การใช้งานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้นด้วย

ส่วนทางด้าน ดร.วิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการปิโตเลียม และปิโตเลียมเคมี บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.รวมถึงกลุ่ม ปตท. ในฐานะมาจากภาคอุตสาหกรรม ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันงานวิจัยจากหิ้งไปสู่ห้าง ให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์จริง ซึ่ง ปตท. และกลุ่ม ปตท. เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาด้านพลาสติกชีวภาพในประเทศ ดังจะเห็นจากการลงทุนในธุรกิจ PLA และ PBS และได้มีการสนับสนุนงานวิจัยกับทีมวิจัย ของ ผศ.ดร.วินิตา อย่างต่อเนื่องร่วม 10 ปี ในหลายๆ โครงการ จนมาถึงโครงการความร่วมมือ 4 ฝ่ายนี้ ซึ่งในการสังเคราะห์ PLA และ PBS Copolymer สำหรับประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล ที่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าอย่างมากให้กับพลาสติกชีวภาพ และช่วยทดแทนการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์จากต่างประเทศ โดย ปตท. จะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันเทคโนโลยีที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาไปผลิตพอลิเมอร์ทางการแพทย์ในเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งต่อยอดในการนำเรซินเหล่านี้ไปผลิตเป็นวัสดุทางการแพทย์ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น