แพทย์ มช. ย้ำให้ตรวจคัดกรอง โรคหัวใจทารกในครรภ์ หวังลดความพิการโดยกำเนิดในอนาคต

ปัจจุบันปัญหาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรได้รับการแก้ไขในระยะต้นของการตั้งครรภ์ จากอุบัติการณ์สถิติในประเทศไทยเหมือนกันทั่วโลก กล่าวคือเด็กที่เกิดใหม่ จำนวน 1,000 คน จะมี 8 คน ที่เป็นโรคหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ในประ เทศไทยมีเด็กแรกเกิดที่มีปัญหาโรคหัวใจปีละ ประมาณ 8,000 คน โดยในจำนวนนี้มีประมาณร้อยละ 50 ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ อาจารย์ประจำวิชาภาควิชาสูติศาสตร์และ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า โรคหัวใจพิการโดยกำเนิดเป็นโรคที่พบบ่อยมากที่สุด และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในเด็กทารก เนื่อง จากทารกส่วนใหญ่ได้รับการตรวจหัวใจหลังคลอด ทำให้การแก้ไขปัญหาได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นทางสาขาวิชาเวช ศาสตร์มารดาและทารก จึงให้ความสำคัญกับการคัดกรองโรคหัวใจทารกในครรภ์ในระยะต้น เพื่อลดความพิการโดยกำเนิดได้ ซึ่งโดยมาตรฐานควรได้รับการตรวจครรภ์ เพื่อคัดกรองเด็กทารกในไตรมาสที่ 2 อายุครรภ์ตั้งแต่ 14 ถึง 28 สัปดาห์เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่หัวใจทารกโตพอที่จะทำให้การตรวจอัลตราซาวด์ เห็นรายละเอียดโครงสร้างหัวใจทารกในครรภ์ได้

ดังนั้นทีมงานเวชศาสตร์มารดาและทารก ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีอัลตราซาวด์ที่ทันสมัย ให้เป็นศูนย์ กลางการฝึกอบรมแพทย์ต่อยอด เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารก ให้มีความเชี่ยวชาญด้านประสบการณ์ ทักษะ ความคุ้นเคย และมีหลักการในการตรวจค้นหาอย่างเป็นระบบ พร้อมศึกษาต่อยอดการฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง แบ่งปันประสบการณ์ เทคนิค และการปรับตัวเรียนรู้ไปตามวิทยาการและเทคโนโลยีเครื่องมืออัลตราซาวด์ และทักษะเชิงลึกด้านการตรวจหัวใจทารกในครรภ์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อการวินิจฉัยก่อนคลอดและวางแผนการดูแลรักษาตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย หรือส่งตัวผู้ป่วยไปสู่การดูแลรักษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากมีสูติ-นรีเวช ที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญระดับสูง ที่สามารถตรวจทารกในครรภ์ได้ และพบโครงสร้างการทำงานของหัวใจที่ทำงานผิดปกติได้อย่างแม่นยำ ได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 เป็นต้นมา ในอนาคตหวังว่า โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในประเทศไทยจะลดลง อัตราเครือข่ายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาตรวจคัดกรอง การวินิจฉัยอย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น