ย้อนอดีต…”ตลาดแพร่ชมภูมิ่ง”

เมื่อสมัยเป็นเด็ก เท่าที่จำความได้เมื่อได้มีโอกาสขึ้นรถคอกหมูเจ้าในตัวเมืองแพร่กับผู้ปกครอง ก็จะพาไปแวะซื้อขนมที่ตลาดชมภูมิ่ง เป็นประจำ จนผมเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนสูงเม่น (ลูก พ.ร.5) หรือ โรงเรียนบ้านหัวดง ในปัจจุบันนี้ ได้มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนพิริยาลัย ตลาดชมพูมิ่งผมก็จะแวะเวียนไปเที่ยวเสมอ

จนกระทั่งสอบรรจุได้รับราชการอยู่ที่อำเภอลอง ก็ยังวนเวียนขึ้นรถโดยสารไปทำงาน วันเวลาล่วงเลยมาหลายสิบปี ก็ยังต้องแวะตลาดแห่งนี้อยู่ ไม่ว่าจะเทศกาลอะไร ที่ตลาดชมภูมิ่งมีของใช้ไม้สอย ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

จนแล้วจนรอดผมไม่เคยทราบว่า ตลาดชมพูมิ่ง มีแหล่งกำเนิดความเป็นมาอย่างไร มาในปีนี้ ทราบว่า คุณเสกสรร ภัสรานุกุล หรือ เสี่ยป้อ เจ้าของและกรรมการผู้จัดการร้านท็อปวิวพ้อยท์ ได้ลงทุนไปกว่า 70-80 ล้านบาทเข้ามาบริหารตลาดชมภูมิ่ง จึงได้มีโอกาสได้ทราบความเป็นมาจากการถ่ายทอดของโดย คุณประพันธ์ กองเพชร คนบ้านเหล่าสูงเม่น เป็นพ่อค้าคนเดิมนั่งแผงตั้งแต่เมตรละ 2 บาท จนถึงปัจจุบัน เล่าผ่านคุณเสกสรร ภัสนานุกุล มีความเป็นมาดังนี้

คุณประพันธ์ฯ ท้าวความว่า ย้อนหลังไปปี พ.ศ. 2481 ก่อนที่จะมาเป็นตลาดในปัจจุบันเคยเป็นโรงสีข้าว โรงเรื่อย โรงแรม และศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก มาก่อน โดยมี นายบัญชา และนางศรีนวล เทพชัย ที่รู้จักกันในนาม แม่เลี้ยงศรีนวล ซึ่งเป็นคนก่อตั้งและเป็นเจ้าของกิจการ 30 ปีผ่านไป บ้านเมืองเริ่มเจริญขึ้น โรงเรื่อยและโรงสีข้าว ตั้งอยู่กลางเมือง ทำให้เกิดมลภาวะต่อชุมชน ทั้งเสียงดัง กลิ่น และควันไฟ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 นายบัญชา เทพชัย และแม่เลี้ยงศรีนวล จึงได้เปิดตลาดขึ้นแทนโรงสีข้าว โรงเรื่อย และโรงแรม ใช้ชื่อว่า “ตลาดชมภูมิ่ง” โดย ตลาดชมภูมิ่ง มีทางเข้าออก 2 ทาง คือ ด้านหนึ่งติดถนนช่อแฮ อีกด้านติดกับถนนเหมืองหิต ต่อมาได้แบ่งพื้นที่ทำถนนส่วนบุคคลอีกฝั่งของถนนเส้นเดิม ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านแพร่เซนเตอร์ และ ร้านค้ามากมายในปัจจุบัน

แผงค้าเรียงกันเป็นทิวแถวตามสภาพพื้นที่ที่จะจัดวางได้ บริเวณตรงหน้าโรงแรม ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กเดิม ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ต่อมาจึงขยับขยายแผงเพิ่มเติมในส่วนของโรงสีและโรงเลื่อยเดิมจนเต็มพื้นที่ โดยให้พ่อค้า แม่ค้า วางแผงขายของฟรี เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2518 – พ.ศ. 2523 ทางตลาดชมภูมิ่ง โดยแม่เลี้ยงศรีนวล ท่านได้จ้าง ลิเก รำวง มวย ภาพยนตร์ เวทีประกวดร้องเพลง และ การแสดงต่างๆ มาจัดให้พ่อค้าแม่ค้าได้รื่นเริงกันฟรี เป็นประจำ ในยุคนั้นเมืองแพร่เพิ่งจะมีสถานีวิทยุ กวส.2 เป็นแห่งแรกของจังหวัด ทางสถานีวิทยุ ภ.ว.ส.2 ได้ ช่วยประชาสัมพันธ์ตลาดชมภูมิ่งออกอากาศ ทำให้ตลาดได้รับความนิยมมากขึ้น มีพ่อค้าแม่ค้าเยอะที่สุดในจังหวัดแพร่ ลูกค้าเนืองแน่นทั้งวัน และ ในปี พ.ศ 2524 จึงเริ่มเก็บค่าเช่าแผงจากพ่อค้าแม่ค้า ในอัตราเริ่มต้นที่แผงละ 2 บาท พร้อมด้วยค่ามัดจำแผงค้า

 

ต่อมาปี พ.ศ. 2557 คุณเสกสรร และ คุณสิทธิศักดิ์ ภัสรานุกุล เข้ามาดูแลตลาดแทนเจ้าของเดิมทั้งหมด และได้เปลี่ยนชื่อตลาดจากเดิมเป็น “ ตลาดแพร่ชมภูมิ่ง “ โดยเพิ่มคำว่า “แพร่” เข้าไป เนื่องด้วยตลาดแพร่ชมภูมิ่งเป็นตลาดที่ก่อตั้งมากว่า 60 ปี เป็นศูนย์รวมพ่อค้าแม่ค้าทั่วทั้งจังหวัดแพร่ และจังหวัดใกล้าเคียง อีกทั้งเป็นดัชนีชี้วัดสภาพคล่องการค้าของคนแพร่ พี่น้องชาวจังหวัดแพร่มีสินค้าพื้นบ้าน สินค้าโอท็อปอะไรไปติดต่อวางแผงได้ ตลาดมีแผงกว่า 200 แผง ตลาดแพร่ชมพูมิ่ง เป็นมิตรกับพ่อค้า แม่ค้าทุกคน

เพื่อให้เป็นตลาดของคนแพร่โดยแท้และรับกับสโลแกนของตลาดคือ “ตลาดแพร่ชมภูมิ่ง ตลาดของคนเมืองแพร่” จึงเติม “แพร่” เข้าไปในชื่อตลาดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังปี พ.ศ. 2557 นับจากเปลี่ยนเจ้าของ ทางตลาดแพร่ชมภูมิ่ง ก็พัฒนาแบบก้าวกระโดดในทุกๆด้าน ถนนหนทาง ความสะอาด สาธารณูปโภคพื้นฐาน แผงค้า ห้องน้ำ ตลอดจนระบบความปลอดภัยต่างๆ

วันนี้ ตลาดแพร่ชมพูมิ่งยังคงเดินหน้าพัฒนาต่อไป โดยมีการจัดสรรพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้น ให้เหมาะสมกับสภาพการค้าในปัจจุบัน และ เพียงพอต่อความต้องการของตลาด อุดหนุนคนแพร่ เงินทองหมุนเวียน ไม่ไหลไปไหน โดยในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ตลาดแพร่ชุมภูมิ่งจะจัดพิธีทำบุญครั้งใหญ่ ทำบุญสืบชะตาหลวง เวลา 07.20 น.ทำพิธีตั้งศาลพระศรีมูรติ พ่อปู่ศรีสุทโธนาคราช แม่ย่าศรีปทุมมา เข้าที่เจ้าทางตลาด เวลา 10.09 น.สวดถอนสรรพขึด พุทธมนต์ พุทธทงคล พิธีสืบชะตาหลวงตลาดแพร่ชมพูมิ่ง เวลา 11.09 น.ถวายภัตตาหารเพล สังฆทาน เวลา 12.00 น.เชิ(ญร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน พบกับรำวงย้อนยุคกับ มงคลทีม บริเวณลานจอดรถจักรยานยนต์ ลุ้นของรางวัลมากมายในบริเวณงาน

…..สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์ / รายงาน…..

ร่วมแสดงความคิดเห็น