แบงค์ชาติเผย ศก.ไทยเริ่มฟื้นแต่ยังห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก่อหนี้เร็วขึ้น

ผู้ว่าฯแบงค์ชาติเผยเศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกส่งผลให้มีแนวโน้มฟื้นตัว ชี้การส่งออกเป็นพระเอกหลักช่วง2-3เดือนที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึงจำนวน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ย้ำ!ไม่ได้เห็นตัวเลขแบบนี้มานานแล้ว ส่วนภาคบริการรวมถึงการท่องเที่ยวก็เป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันเม็ดเงินเข้าประเทศ ในขณะที่แม้ภาพรวมจะเริ่มสดใสแต่เรื่องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังน่าห่วงโดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและคนรุ่นใหม่มีหนี้สินที่เร็วขึ้น
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังกล่าวปาฐกถา เรื่อง “เศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” ณ ห้องประชุม อาคารอเนกประสงค์ ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ ว่า ณ ขณะนี้เราก็จะได้เห็นการฟิ้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นและก็เป็นการฟื้นตัวแบบกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ในยุโรปและญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มของการฟื้นตัวโดยเฉพาะเรื่องของการจ้างงานที่ดีขึ้นในประเทศที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกหลายประเทศก็เช่นเดียวกันก็ได้รับอานิสงส์ของเรื่องการส่งออกที่ดีมากขึ้น เริ่มเห็นการจ้างงานและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ประเด็นเหล่านี้ก็ได้ส่งผลต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นในภาคการส่งออกของประเทศไทยในช่วง2-3เดือนที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึงจำนวน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับที่เราไม่ได้เห็นตัวเลขแบบนี้มานานแล้วและค่อนข้างที่จะเป็นการส่งออกกระจายตัวไปในหลายผลิตภัณฑ์และหลายตลาดด้วยไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งหรือตลาดใดตลาดหนึ่งเท่านั้น
การส่งออกที่สำคัญอีกด้านหนึ่งก็คือการส่งออกภาคบริการหรือการท่องที่ยวโดยการท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรเป็นกลไกที่สำคัญเราได้รับอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวอีกหลายๆประเทศ การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวก็มีการกระจายตัวมากขึ้น ดังจะเห็นจากการเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆที่บินตรงเข้ามาไปสู่จังหวัดอื่นๆของประเทศไทยซึ่งไม่ใช่แค่บินเข้าไปในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครเท่านั้นเข้าไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในหลายจังหวัดของประเทศไทย ทั้งนี้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้หลากหลาย
แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวดีในภาพใหญ่แต่ว่าเรื่องการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนอาจจะยังไม่ได้ฟื้นตัวได้เร็วเหมือนในรอบผ่านๆมาสาเหตุคือประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูง ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานั้นมีการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนโดยต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติหรือจีดีพีขึ้นไปสูงถึงประมาณร้อยละ 81 ในช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้ก็เป็นที่น่ายินดีว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเมื่อเทียบกับจีดีพีค่อยๆปรับลดลงอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 78 โดยการที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงก็ส่งผลสะท้อนมาว่าแม้เศรษฐกิจจะขยายตัวขึ้นเร็วแต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นประชาชนก็ต้องเอาไปใช้จ่ายไปใช้หนี้ ทำให้การที่จะนำเงินมาสู่การใช้จ่ายไม่ได้หมุนคล่องตัวเหมือนกับในช่วงก่อนหน้านี้ อีกด้านหนึ่งก็ปฎิเสธไม่ได้กับการที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาภัยแล้งในปีที่ผ่านมาส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากได้มีการก่อหนี้มากขึ้นก็ทำให้เป็นภาระหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องไปด้วยเช่นกัน
“เรื่องของหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญเพราะว่ามีผลกับเสถียรภาพในระยะยาวของระบบเศรษฐกิจประเทศไทย โดยในภาพใหญ่อย่างที่ทราบกันเรากำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุซึ่งหมายความว่าเราต้องหมีเงินออมที่เพียงพอที่จะดูแลตัวเราเองถ้าหากมีหนี้ครัวเรือนที่สูงก็จะเป็นเรื่องของผลกระทบทางการเงินในระยะยาวได้ ปัจจุบันเห็นคนไทยที่เป็นคนรุ่นใหม่มีหนี้สินที่เร็วขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดจากการไม่ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากนักก็ทำให้มีหนี้เสียอยู่ในสัดส่วนที่สูง ก็เป็นเหตุผลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการเกี่ยวกับเรื่องของวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและก็วงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับคนที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท โดยได้ออกมาในเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมทั้งได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยจัดตั้งคลีนิกแก้หนี้สำหรับประชาชนที่เป็นหนี้เสียจากบัตรเครดิตหรือหนี้จากสินเขื่อส่วนบุคคลกับทางธนาคารพาณิชย์ต่างๆเป็นต้น ให้ทำการปรับโครงสร้างหนี้ได้” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในที่สุด.

ร่วมแสดงความคิดเห็น