“ฝายมีชีวิต” อุทยานแห่งชาติขุนขาน ต้นแบบแห่งแรกในภาคเหนือ

“ฝายมีชีวิต” อุทยานแห่งชาติขุนขาน สะเมิงเชียงใหม่ ต้นแบบแห่งแรกภาคเหนือ ได้มวลชน ได้ระบบนิเวศน์ ได้น้ำ ได้สัตว์ป่า
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนขาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ยำชัด การทำ “ฝายมีชีวิต” ทำขึ้นตามยุทธศาสตร์ประชารัฐ ประสบความสำเร็จ สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศน์ได้ดี เป็นต้นแบบแห่งแรกในภาคเหนือ และแห่งแรกในอำเภอสะเมิง จัดทำขึ้นในพื้นที่อุทยานฯ ทำให้ได้ป่าได้สิ่งมีชีวิตในป่ากลับคืนมา ได้พลังประชาชนเกิดความรักสามัคคีกันในชุมชน และที่สำคัญประหยัดงบประมาณ

เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2560 นายสิทธิ์ วิมาลา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนขาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ฝายมีชีวิต” ได้จัดทำขึ้นตาม ยุทธศาสตร์ประชารัฐ อุทยานแห่งชาติขุนขานที่ทำมาแล้วถือว่าประสบความสำเร็จ ทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นและทุกภาคส่วนได้ลงมือทำฝายในรูปแบบ “ฝายมีชีวิต” ได้รู้ถึงความสำคัญของฝายมีชีวิต ที่สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศน์ได้ดี เป็นต้นแบบแห่งแรกในภาคเหนือ และแห่งแรกในอำเภอสะเมิง นำมาใช้ให้เป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้เกิดความรักสามัคคีกันในชุมชนด้วย
“ฝายมีชีวิตที่อุทยานแห่งชาติขุนขาน ความกว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร จากที่มีผู้ประเมินราคาค่าใช้จ่ายไว้ที่ 4-5 แสนบาท แต่เมื่อทำฝายมีชีวิตที่ใช้ไม้ไผ่และแรงงานประชาชนทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐแล้วนั้น ใช้งบประมาณหมดไปเพียง 5 หมื่นบาทเท่านั้น และใช้เวลาทำฝายไม่เกิน 10 วัน”

“ฝายมีชีวิตจะทำให้สภาพป่าพื้นคืนมาได้ เพราะฝายจะช่วยเก็บน้ำและยังทำให้น้ำไหลกระจายไปในพื้นดินในป่าได้ดีอีกด้วย จากอดีตลำน้ำจะไม่มีสัตว์น้ำ พอทำฝายเสร็จทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำเกิดขึ้นมาจำนวนมาก เช่นกุ้ง หอย ปู ปลาจะมาอยู่อาศัย
จากอุทกภัยปีนี้น้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนชาวบ้าน และทำให้ฝายแม้วหลายแห่งพังเสียหาย แต่ฝายมีชีวิตที่นี้รองรับน้ำป่าได้เป็นอย่างดี และยังแข็งแรงทนทานมาถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามที่อุทยานแห่งชาติขุนขาน นอกจากมีฝายมีชีวิต ตามโครงการฝายประชารัฐประสบความสำเร็จ ที่เป็นต้นแบบแห่งแรกในภาคเหนือ และแห่งแรกในอำเภอสะเมิงแล้วนั้น นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและสวยงามตามธรรมชาติจำนวนมาก
ที่อุทยานฯ มีลานกางเต็นท์ และ มีถ้ำหลวงแม่สาบ มีหินงอกเป็นรูปนอแรด มีลวดลายผนังถ้ำเป็นเส้นสี และน้ำตกต่างๆจำนวนมาก อย่างไรก็ตามผู้สนใจโทร 061-3369989 ได้ทุกวัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น