แพทย์ มช. จัดการประชุมวิชาการ “การใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องและเหมาะสม ครั้งที่ 11”

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จัดให้ประชุมวิชาการประจำปี เรื่อง “การใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องและเหมาะสม ครั้งที่ 11” สำหรับแพทย์ พยาบาล และผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการได้เรียนรู้เทคนิค และองค์ความรู้ใหม่ที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อกระตุ้นความตื่นตัว และเตรียมแผนรองรับต่อเหตุการณ์การใช้ยาปัจจุบัน

เมื่อวันศุกร์ ที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ณ บริเวณห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.นพ.วิชัย ชื่นจงกลกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี รศ.ดร.พญ.เพณณินาท์ โอเบอร์ดอร์เฟอร์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า ปัจจุบันความเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของทางด้านสาธารณสุขทั้งโรคติดเชื้อที่เกิดจากชุมชนและโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งด้วยเหตุโรคติดเชื้อและโรคไม่ติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้รับการ ตรวจวินิจฉัยและการรักษา ด้วยอุปกรณ์การแพทย์ที่สอดใส่เข้าสู่ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

รวมทั้งสถานการณ์ด้านโรคติดเชื้อและโรคติดต่อต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชน และต่อเนื่องถึงโรงพยาบาลเป็นไปอย่างรวดเร็ว และติดต่อกันได้ง่าย เมื่อผู้ป่วยเหล่านี้เข้ามารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล จำเป็นต้องมีการปรับระบบการป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดการติดต่อของโรคไปสู่ผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่พักรักษาตัวในหอผู้ป่วยเดียวกัน หรือการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือการทำหัตถการเพื่อตรวจวินิจฉัย รวมทั้งวิธีการแยกผู้ป่วยและการดูแลรักษาพยาบาลไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อสู่บุคลากรในโรงพยาบาล นอกจากนี้ปัจจุบันมียาปฏิชีวนะชนิดใหม่ออกมามากมาย และบุคลากรทางการแพทย์บางท่านอาจยังมีความรู้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วย

ดังนั้นเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อหรือการติดต่อของโรคสู่ผู้ป่วยอื่นรวมถึงบุคลากรผู้ให้การดูแล และเพื่อให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม สมเหตุผล เพื่อป้องกันการแพ้ยา และดื้อยา จึงได้มีการจัดอบรมให้ความรู้ให้แก่บุคลากรภายในคณะแพทย์ ทั้งบุคลากรที่ปฏิบัติงานในคลินิก บุคลากรฝ่ายสนับสนุน และผู้สนใจอื่นๆ ตื่นตัว และเตรียมแผนรองรับต่อเหตุการณ์การใช้ยาในยุคปัจจุบันเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น