เปิดดัชนีรายได้เกษตร รอบ 9 เดือนตัวเลขพุ่ง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สศก. เผยภาพรวมดัชนีรายได้เกษตรกร รอบ 9 เดือน ปี 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.88 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดทั้งปีดัชนีรายได้เกษตรกรยังเพิ่ม จากผลผลิตสินค้าเกษตรที่มากขึ้น แม้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง มั่นใจนโยบายขับเคลื่อนการเกษตร และการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเกษตรเป็นไปตามเป้า

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้เกษตรกร สะท้อนจากดัชนีรายได้เกษตรกร ในระยะ 9 เดือน ปี 2560 (มกราคม – กันยายน 2560) อยู่ที่ระดับ 155.34 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มกราคม – กันยายน 2559) ร้อยละ 8.88 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.50 ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลงร้อยละ 1.47 และหากพิจารณาแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรทั้งปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 เป็นผลจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ แม้ว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงก็ตาม

นายวิณะโรจน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรลดลงในปี 2560 เป็นผลมาจากการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากปัญหาคุณภาพสินค้าที่มีความชื้นค่อนข้างสูงจากฝนตกชุกและต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบต่อราคา ซึ่งรัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยใช้ตลาดนำการผลิตหรือผลิตตามตลาดต้องการ รวมทั้งแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมระบบตลาดออนไลน์ ซึ่งในปี 2561 ภาครัฐ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดเป้าหมายให้เป็น “ปีแห่งการยกระดับคน การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0” ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรวม 103,586.6227 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีงานโครงการสนับสนุนนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ยกกระดาษ A4) และงานสำคัญอื่นๆ จำนวน 57,742.1386 ล้านบาท ประกอบด้วย 15 โครงการ/แผนงานสำคัญ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2.ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 3.ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 4.Zoning by Agri-Map 5.Smart Farmer 6.พัฒนาสถาบันเกษตรกรรูปแบบประชารัฐ 7.ธนาคารสินค้าเกษตร 8.เกษตรอินทรีย์ 9.ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ 10.จัดระเบียบการประมงให้เป็นมาตรฐาน 11.ขยายศูนย์เมล็ดพันธ์ข้าว 12.ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงาน 13.ตลาดสินค้าเกษตร 14.พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (GAP) และ 15.การช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายขับเคลื่อนการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาและกระตุ้นความเป็นอยู่ของเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก และช่วยให้รายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเกษตรในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 วงเงิน 33,891.39 ล้านบาท (ร้อยละ 32.72) ไตรมาสที่ 2 จำนวน 23,478.51 ล้านบาท (ร้อยละ 22.67) ไตรมาสที่ 3 จำนวน 22,359.16 ล้านบาท (ร้อยละ 21.58) และไตรมาสที่ 4 จำนวน 23,857.56 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.03 ซึ่งเชื่อมั่นว่าผลสัมฤทธิ์จะได้รับจากการดำเนินงานตามงบประมาณปี 2561 ซึ่งหากเป็นไปตามแผน จะช่วยสนับสนุนให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลให้รายได้เกษตรกรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น