เร่งเสริมทัพ ดันไทยเป็นฮับนกเหล็กภูมิภาค

เดินแผนเสริมทัพเป้าหมายยกไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค บอร์ดบริหาร ทอท. เห็นชอบรวบสนามบินในความดูแลของกรมท่าอากาศยาน 29 แห่งเข้ามาบริหาร พร้อมเตรียมเสนอแผนพัฒนาให้ ครม.อนุมัติ

นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการตอบโจทย์ด้านการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (aviation hub) ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้ ทอท.พิจารณาเพื่อดำเนินการ เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา โดยล่าสุดทางคณะกรรมการ ทอท. มีมติเห็นชอบบทบาทของ ทอท.ในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยาน และให้ ทอท.จัดทำแผนดำเนินงานและช่วงเวลาที่จะเข้าบริหารท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.)เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ จากการศึกษา ทอท.ได้เล็งเห็นโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยในภาพรวม ภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบท่าอากาศยาน (airport system) และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ด้านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพภาคการขนส่งของประเทศในภาครวม

โดยมีแนวคิดว่า ทอท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่บริหารท่าอากาศยานหลักของประเทศ ควรจะเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน จำนวน 29 แห่ง ด้วยเหตุผลดังนี้

1.การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานโลก โดยต้องคำนึงถึงเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติควบคู่กันไป เพราะอุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานทางด้านความปลอดภัย และด้านการรักษาความปลอดภัย (security) สูง โดยมาตรฐานต่าง ๆ นั้นเป็นมาตรฐานสากลที่ปฏิบัติกันทั่วโลก ไม่สามารถประนีประนอมหรือผ่อนผันได้ ซึ่งกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าวมีจำนวนมาก และจำเป็นต้องดำเนินการผ่านหน่วยงานรัฐที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ

2.การระบุสถานะของแต่ละสนามบิน (positioning) ที่ถูกต้องในปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มของการลงทุนที่ถูกต้องในอนาคต เพราะการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในอีกทศวรรษข้างหน้าเป็นไปอย่างก้าวกระโดดและมีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ จึงทำให้แผนแม่บทการพัฒนาสนามบินของชาติ ซึ่งจะต้องมีการลงทุนมหาศาลนั้น จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา หรือระบุสถานะของแต่ละสนามบินให้สอดคล้องกับการเติบโต และความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาทิ การพัฒนาสนามบินเพื่อเป็นศูนย์กลางทางการบิน (aviation hub) ก็ต้องมีการออกแบบรันเวย์ แท็กซี่เวย์ ตลอดจนถึงสะพานเทียบเครื่องบินที่รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ ในขณะที่การพัฒนาสนามบินเพื่อเป็นประตูเมือง นั้นอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนในสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวมากนัก เพราะสนามบินขนาดเล็กนั้นไม่มีโอกาสได้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ในระยะเวลาอันใกล้ เป็นต้น

ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดจะทำให้มีการลงทุนจำนวนมหาศาลที่ผิดพลาด และจะนำมาซึ่งความเสียหายในเชิงการเงินและเชิงเศรษฐกิจของประเทศที่ตามมาในระยะยาว

3.การบริหารจัดการทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานต้องทำเป็นกลุ่ม หรือ cluster การบริหารจัดการและการทำการตลาดของสนามบินในลักษณะ cluster นอกจากจะทำให้การบริหารจัดการน่านฟ้าของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ภาคพื้นแล้ว ยังทำให้การทำการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่เกิดการแข่งขันกันเอง อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของประเทศโดยรวม

และ 4.การมีผู้บริหารเดียว (single operator) ถือเป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมทั้งในด้านสังคมที่จะต้องมีการรักษามาตรฐาน และคงไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติควบคู่กันไป และด้านเศรษฐกิจที่จะมีการลงทุนที่บูรณาการ เหมาะสมตามสถานะ (position) ของแต่ละสนามบิน และมีการบริหารจัดการที่ดี

โดย ทอท.มีความพร้อมทั้งในด้านทุนและบุคลากรในการบริหารจัดการสนามบินของประเทศอย่างบูรณาการ อันจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินของประเทศให้อยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาคและของโลกต่อไปอย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น