ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ประชุมหารือแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า

ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ประชุมหารือแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า โดยเน้นการบูรณาทุกภาคส่วน และสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนในชุมชน พร้อมกำชับจะต้องไม่กระทบสุขภาพและเศรษฐกิจในเชียงใหม่

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 1 ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ เพื่อหารือแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้ประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนของทุกปี โดยมีสาเหตุหนึ่งเกิดจากการจุดไฟเผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตร

สำหรับ ผลการดำเนินงานของจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้ออกประกาศช่วงเฝ้าระวัง “60 วันห้ามเผา เราทำได้ เพื่อเชียงใหม่ไร้หมอกควัน” ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 20 เมษายน 2560 เป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถลดจำนวนจุด Hotspot จากปีที่แล้วจำนวน 997 จุด เหลือ 609 จุด ลดลง 38% ระดับค่า PM 10 สูงสุดของปี 59 อยู่ที่ 192 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (วันที่ 26 มี.ค.59) และในปี 60 ลดลงเหลือ 153 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (วันที่ 24 มี.ค.60) อีกทั้ง พื้นที่เผาไหม้จากปี 59 จำนวน 1,412,399 ไร่ ในปี 60 ลดลงเหลือ 797,053 ไร่ ลดลง 56.43% จับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดในช่วง 60 วัน จำนวน 14 คดี และการขึ้นลงของเครื่องบินเป็นปกติ ไม่มีดีเลย์หรืองดเที่ยวบินเนื่องจากปัญหาหมอกควัน

ด้าน นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละด้าน โดยบูรณาการร่วมกันกับส่วนราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ร่วมสนธิกำลังจัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังและดับไฟป่าอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอ โดยเฉพาะอำเภอจุดแตกหักที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ อำเภออมก๋อยและอำเภอแม่แจ่ม หากควบคุมได้จะทำให้ภาพรวมค่า Hotspot ของจังหวัดเชียงใหม่ จะไม่เกินมาตรฐาน ส่วนอำเภอฮอดและอำเภอดอยเต่า เมื่อปีที่แล้วค่า Hotspot เกินมาสูงมาก จึงต้องเร่งหามาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น

นอกจากนี้ จังหวัดเชียงใหม่จะดำเนินกิจกรรมภายในปี 2561 ประกอบด้วย การจัดการเชิงพื้นที่ เพื่อจัดระเบียบและจำแนกการใช้ที่ดินรวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่ดินของพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหามานาน การแก้ไขปัญหาเรื่องพืช ให้เกษตรทำการเปลี่ยนแปลงปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านรายได้และที่ดิน รวมถึงการเจรจาต่อรอง สร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนสามารถเข้าใจได้ในระบบทำงานเพื่อปรับพฤติกรรมการเผาของชาวบ้านให้เผาตามกำหนดเวลา อีกทั้งกิจกรรมการใช้ไฟที่มีการอนุญาตให้ใช้ไฟในช่วงห้ามเผาอย่างไรบ้าง และสร้างความเข้าใจเรื่องหาของป่าที่ไม่จำเป็นต้องเผา การใช้งบประมาณของท้องถิ่น สร้างชุมชนปลอดการเผา และลดเชื้อเพลิงโดยการทำปุ๋ยและชีวมวลให้มากที่สุด

ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำชับให้นายอำเภอทุกอำเภอ เริ่มสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า รวมถึง กำหนดพื้นที่ที่เป็นจุดบอดหรือพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าไปดับไฟป่าได้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดการสูญเสีย โดยใช้การถอดบทเรียนในอดีต ซึ่งได้เสนอเป็นแผนจังหวัด ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติเบื้องต้น เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่แต่ละอำเภอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ที่จะก่อให้เกิดปัญหามลพิษจากหมอกควัน เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวตลอดทั้งศูนย์กลางทางธุรกิจและการพัฒนา อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคของภาคเหนืออีกด้วย ดังนั้น หากเกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าขึ้น จะส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อสุขภาพพลานามัยของทุกคน รวมไปถึง ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งช่วงที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ จะทำให้จำนวนผู้มาท่องเที่ยวลดลง และจะส่งผลถึงรายได้ที่ลดลงของชาวเชียงใหม่ตามมา โดยเฉพาะการขึ้นลงของอากาศยานต้องเป็นไปตามปกติ ไม่ดีเลย์ และขึ้นลงได้ทุกเที่ยวบิน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าได้ดีที่สุด คือ การบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งหน้าที่ และพื้นที่รับผิดชอบเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบ ตลอดจน การสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในทุกภาคส่วน ตระหนักถึงปัญหา จึงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวเชียงใหม่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการป้องกันปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างจริงจังและยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น