กรมท่องเที่ยว สั่งล้อมคอก ป้องกันทัวร์โกง

กรมการท่องเที่ยว” แจงนักท่องเที่ยวสามารถรับค่าชดเชยจากกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยวได้ หากถูกบริษัททัวร์โกง แนะนักท่องเที่ยวซื้อบริการบริษัททัวร์ที่จดทะเบียนถูกต้อง

นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ตามที่มีเหตุการณ์นักท่องเที่ยวซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว หรือบริษัททัวร์ แล้วนักท่องเที่ยวไม่ได้เดินทาง เนื่องจากบริษัททัวร์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง หรือไม่ทำตามที่ได้โฆษณาไว้ นักท่องเที่ยวสามารถยื่นร้องเรียนและรับเงินค่าชดเชยจากกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว กรมการท่องเที่ยวได้ โดยมีเงื่อนไขเพียงว่าบริษัทนำเที่ยวดังกล่าวจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมการท่องเที่ยวเท่านั้น
ทั้งนี้ เนื่องจากภายใต้การบริหารงานของกรมการท่องเที่ยว ได้มีกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 เพื่อใช้เป็นเงินทดรองจ่ายให้กับนักท่องเที่ยวในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากกรณีผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โดยอัตราการจ่ายค่าชดเชยจะจ่ายไม่เกินหลักประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้วางไว้กับกองทุน
“บริษัทนำเที่ยวทั่วไปที่ทำธุรกิจนำเที่ยวในลักษณะนำนักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศ และนำนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยด้วยจะต้องวางเงินประกัน แต่ภายหลังจากเกิดปัญหานักท่องเที่ยวถูกลอยแพเป็น กลุ่มใหญ่ เราจึงมีโครงการเพิ่มเงินค่าค้ำประกันมากขึ้น เพื่อให้ความคุ้มครองแก่นักท่องเที่ยวได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น”
ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ บริษัททัวร์ที่จดทะเบียนทั้ง 4 ประเภท คือ 1.ประเภททั่วไป สามารถนำเที่ยวได้ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร จากที่วางหลักประกัน 200,000 บาท จะเพิ่มเป็น 500,000 บาท 2.ประเภทในประเทศ สามารถนำเที่ยวภายในราชอาณาจักร หลักประกัน 50,000 บาท เพิ่มเป็น 100,000 บาท
3.ประเภทเฉพาะพื้นที่ สามารถนำเที่ยวได้ภายในจังหวัดที่จดทะเบียนและจังหวัดที่มีเขตติดต่อกัน หลักประกัน 10,000 บาท เพิ่มเป็น 50,000 บาท และ 4.ประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาภายในประเทศ หลักประกัน 100,000 บาท เพิ่มเป็น 200,000 บาท
สำหรับกองทุนดังกล่าวนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ปัจจุบันมีเงินในกองทุนพร้อมที่จะใช้เป็นเงินทดลองจ่ายค่าชดเชยให้กับนักเที่ยวที่ประสบปัญหากับบริษัทนำเที่ยวที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง
ทั้งนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศด้วย โดยกรมการท่องเที่ยวจะติดตามให้บริษัทนำเที่ยวรับผิดชอบค่าเสียหายต่อไป
ส่วนบริษัทที่ไม่ยอมปฏิบัติตามจะไม่ได้รับเงินค่าค้ำประกันคืน และอาจไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต ดังนั้น นักท่องเที่ยวควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า บริษัทนำเที่ยวนั้นได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อประกันความมั่นใจว่าจะได้รับการชดเชยในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด บริษัทนำเที่ยวควรตระหนักถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก โดยไม่กระทำผิดกฎหมายและต้องซื่อตรงกับนักท่องเที่ยวด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น