ราคาขายปลีกน้ำมัน ถูกหรือแพงมีสาเหตุ จากโครงสร้างภาษี


ปตท. ชี้แจงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงถูกหรือแพง สาเหตุจากอัตราโครงสร้างภาษีแต่ละประเทศไม่เท่ากัน โดยรัฐบาลไทยเก็บภาษีอัตราสูง ให้ประชาชนตระหนักความสำคัญ และช่วยกันประหยัดทรัพยากร

นายพีรทักษ์ อุตะเดช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ปฏิบัติการคลังปิโตรเลียม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ราคาหน้าโรงกลั่น หรือราคาเนื้อน้ำมัน คือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังไม่ได้รวมภาษี กองทุน และค่าการตลาด, ภาษีสรรพสามิต คือ ภาษีที่จัดเก็บสินค้าที่มีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งเป็นการจัดหารายได้ให้แก่ภาครัฐ, ภาษีเทศบาล ส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย อัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท, เงินที่เรียกเก็บเข้า/อุดหนุน จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ, เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน, ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง สำหรับธุรกิจการขายสินค้า การให้บริการทุกชนิด และการนำเข้า อัตราร้อยละ 7, ค่าการตลาด คือ ผลตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จะได้รับจากการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ รวมถึงผลตอบแทนของการลงทุนก่อสร้างคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง การก่อสร้างสถานีบริการ การส่งเสริมการขาย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจทุกอย่าง และสุดท้ายคือภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด คิดเป็น 7% ของค่าการตลาด ดังนั้นสาเหตุหลักของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความแตกต่างกันของแต่ละประเทศ คือ อัตราโครงสร้างภาษีต่างๆ ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศกำหนดเรียกเก็บไม่เท่ากัน

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ปฏิบัติการคลังปิโตรเลียม กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากน้ำมันเป็นสินค้านำเข้า รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องเก็บภาษีน้ำมันในอัตราสูง เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญ และช่วยกันประหยัดทรัพยากร นอกจากนี้รัฐบาลยังได้นำภาษีน้ำมันไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งนำไปพัฒนาและส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทดแทน ตลอดจนซ่อมแซมสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการก่อมลพิษจากน้ำมัน เช่น ถนน สะพาน ฯลฯ อีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น