20 พฤศจิกายน วันกองทัพเรือ

ในสมัยก่อนยังไม่มีการแบ่งแยกกำลังการรบทางเรือออกจากทางบก กระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแบ่งแยกการรบออก และได้กำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 เป็นวันกองทัพเรือ จวบจนปัจจุบัน 

หลังจากมีการแบ่งแยกกำลังทางรบระหว่างทางบก และทางเรือออกจากกันแล้ว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรมทหารเรือขึ้น แต่ทั้งนี้ ในสมัยนั้นยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะ จึงจำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ อาทิ ผู้บังคับการเรือ ผู้บัญชาป้อมต่าง ๆ
หลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) รัชกาลที่ 5 ทรงห่วงว่า ทหารจากต่างประเทศที่เข้ามาประจำตำแหน่งต่าง ๆ อาจจะมีกำลังไม่มากที่พอที่จะรักษาอธิปไตยของชาติได้ และอาจจะรักษาอธิปไตยได้ไม่ดีเท่าคนไทยด้วยกันเอง จึงประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย เพื่อให้มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะทำหน้าที่ต่าง ๆ แทนชาวต่างชาติได้  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” (บิดาแห่งกองทัพเรือ)พระราชโอรส เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังประเทศอังกฤษ
หลังจากพระราชโอรสทรงสำเร็จการศึกษา จึงทรงกลับมารับราชการในกรมทหารเรือ และจัดฝึกสอนวิชาการทหารเรือขึ้น โดยเริ่มตั้งโรงเรียนขึ้นครั้งแรกบริเวณอู่หลวงใต้วัดระฆัง ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ เพื่ออบรมนายทหารชั้นประทวน และฝ่ายช่างกล  ต่อมาในปี พ.ศ. 2434 ทรงตั้งโรงเรียนนายสิบขึ้น จากนั้นในปี พ.ศ. 2440 ได้ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารเรืออีกโรงเรียนหนึ่ง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2442 ได้ตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้น ซึ่งตั้งอยู่ที่วังนันทอุทยาน (สวนอนันต์) โดยมี นาวาโท ไซเดอลิน (Seidelin) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือคนแรก และในปีถัดมา (พ.ศ. 2443) เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นที่ประทับได้ว่างลง รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชวังดังกล่าวให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา โดยได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาในสมุดเยี่ยมของโรงเรียน มีความว่า “วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ. 125 เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจ ซึ่งได้เห็นการทหารเรือ มีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบต่อไปในภายหน้า” ทั้งนี้ ทางราชการทหารเรือ จึงได้ถือ “วันกองทัพเรือ” เป็นวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี ตราบจนปัจจุบัน
กำเนิดกองทัพเรือ

กองทัพเรือมีกำเนิดควบคู่มากับการสร้างอาณาจักรไทย นับตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กองทัพไทยในสมัยนั้นมีเพียงทหารเหล่าเดียว มิได้แบ่งแยกออกเป็นกองทัพบก, กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน หากยาตราทัพไปทางบกก็เรียกว่า “ทัพบก” หากยาตราทัพไปทางเรือก็เรียกว่า “ทัพเรือ” การจัดระเบียบ การปกครองบังคับบัญชากองทัพไทยในยามปกติ สมัยนั้นยังไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ในยามศึกสงครามได้ใช้ทหาร “ทัพบก” และ “ทัพเรือ” รวม ๆ กันไป
ในการยาตราทัพเพื่อทำศึกสงครามภายในอาณาจักร หรือนอกอาณาจักร ก็มีความจำเป็นต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการลำเลียงทหาร เครื่องศาสตราวุธเรือ นอกจากจะสามารถลำเลียงเสบียงอาหารได้คราวละมาก ๆ แล้ว ยังสามารถลำเลียงอาวุธหนัก ๆ เช่น ปืนใหญ่ ไปได้สะดวกและรวดเร็วกว่าทางบกด้วย จึงนิยมยกทัพไปทางเรือจนสุดทางน้ำ แล้วจึงยกทัพต่อไปบนทางบก

เรือรบที่เป็นพาหนะของกองทัพไทยสมัยโบราณ มี 2 ประเภท ด้วยกันคือ เรือรบในแม่น้ำ และเรือรบในทะเล เมื่อสันนิษฐานจากลักษณะที่ตั้งของราชธานี ซึ่งมีแม่น้ำล้อมรอบ และมีแม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางในการคมนาคมตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องใช้น้ำในการบริโภคและการเกษตรกรรมแล้ว เรือรบในแม่น้ำคงมีมาก่อนเรือรบในทะเล เพราะสงครามของไทยในระยะแรก ๆ จะเป็นการทำสงครามในพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย กล่าวคือ เป็นการทำสงครามกับพม่าเป็นส่วนมาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น