ช็อปช่วยชาติ ปลุกค้าปลีกคึกคักช่วงปลายปี

ชี้มาตรการช็อปช่วยชาติ ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อช่วงปลายปี โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่ตัวเลขอาจจะขึ้นไปแตะหมื่นล้าน แนะผู้ประกอบการค้าปลีกควรเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อม ทั้งในเรื่องสต๊อกสินค้าและการจัดการในเรื่องใบกำกับภาษี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะมีแนวโน้มเติบโตดี หลายภาคส่วนมีการปรับประมาณการ GDP เพิ่มขึ้น ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมาจากภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่หากมองในฝั่งกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ กลับพบว่า การเติบโตยังคงกระจุกตัวในบางภาคส่วน โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน (รถยนต์) แต่ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (ไม่คงทนและกึ่งคงทน) ยังคงมีความเปราะบาง หรือยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ดังนั้น จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 เห็นชอบให้มีการใช้มาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2560 เป็นวงเงิน 15,000 บาท ระยะเวลารวม 23 วัน โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีประจำปี 2560 ได้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการช็อปช่วยชาติดังกล่าว น่าจะช่วยสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยให้กับธุรกิจค้าปลีกได้เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ และน่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ผู้ผลิตสินค้า (Supplier) เกษตรกร รวมถึงการจ้างงานของธุรกิจต่างๆ ในห่วงโซ่ของธุรกิจค้าปลีก จากที่ก่อนหน้านี้ ธุรกิจค้าปลีกยังคงเผชิญกับปัจจัยกดดันทางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มฐานราก ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของประเทศ

โดยสะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ เช่น ราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มมีแนวโน้มลดลง อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ยอดขายของสินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทนที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมถึงภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และตุลาคม-พฤศจิกายน และครอบคลุมหลายๆ พื้นที่ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ยังคงกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แรงส่งของมาตรการช็อปช่วยชาติปีนี้ น่าจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในธุรกิจค้าปลีกคิดเป็นเงินใกล้เคียงกับที่ภาครัฐได้ประเมินไว้ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกควรเตรียมพร้อม ทั้งในเรื่องของสต็อกสินค้า การจัดการเรื่องของใบกำกับภาษี และเร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการขายให้เร็วขึ้นกว่าปีก่อน เพื่อหนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ร่วมแสดงความคิดเห็น