ไปรษณีย์ผุดโครงการ เพื่อแผ่นดินธรรมฯ

ไปรษณีย์ไทย ผุดโครงการ “ไปรษณีย์ไทย… เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” พัฒนาท้องถิ่นโดยใช้ที่ทำไปรษณีย์เป็นศูนย์กลาง ภาคเหนือเลือก ลำใยกึ่งอบแห้ง ลำพูน – เซรามิก แม่ต๋ำ ลำปาง นำร่อง

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เตรียมต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่านโครงการ “ไปรษณีย์ไทย… เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” พัฒนาท้องถิ่นโดยใช้ที่ทำไปรษณีย์เป็นศูนย์กลาง พร้อมสานต่อโครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” โชว์ศักยภาพด้านเครือข่ายครอบคลุมทั่วไทย รุกพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ผลักดันสินค้าท้องถิ่นส่งขายทั่วประเทศ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ และเว็บไซต์ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท (www.thailandpostmart.com) โดยในปี 2560 นี้ ไปรษณีย์ไทยได้ทำการขยายพื้นที่โครงการเพิ่ม รวมทั้งสิ้นเป็น 12 เขต ครอบคลุม 14 พื้นที่ทั่วประเทศไทย อาทิ ชารางแดง จากชุมชนเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ จังหวัดอ่างทอง ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูด จังหวัดนครศรีธรรมราช ฯลฯ โดยสินค้าชุมชนที่อยู่ภายใต้โครงการไปรษณีย์เพิ่มสุขจะถูกคัดเลือกเพื่อวางจำหน่าย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ และเว็บไซต์ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท www.thailandpostmart.com อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการชุมชนที่เข้าร่วมโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุขที่ผ่านมา สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านการควบคุมคุณภาพ การบรรจุภัณฑ์ และช่องทางในการจำหน่าย จนสามารถสร้างรายได้แก่ชาวบ้านและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมากขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้วางแผนเปิดโครงการ “ไปรษณีย์ไทย… เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโดยมีที่ทำการไปรษณีย์เป็นศูนย์กลาง พร้อมกันนี้ได้มุ่งมั่นสานต่อโครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” โดยใช้ศักยภาพด้านเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการชุมชน และสินค้าท้องถิ่น เพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ ผ่านการคัดเลือกชุมชน และสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานให้สามารถวางจำหน่าย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ และเว็บไซต์ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท โดยในปี 2560 ไปรษณีย์ไทยมุ่งเน้นการนำพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จเป็นโมเดลตัวอย่างในการขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่ทั่วประเทศตามลำดับ อาทิ ชุมชนบ้านกุดจิก ผู้ผลิตข้าวฮางทิพย์ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนามาตรฐานของข้าวฮางบ้านกุดจิก หรือ ชุมชนคนตีมีดอรัญญิก จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และการนำสินค้าเข้าสู่ระบบจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ ไปรษณีย์ไทยได้วางแผนนำโมเดลดังกล่าว ประยุกต์ใช้กับชุมชนศูนย์ตุ๊กตาชาววัง บ้านบางเสด็จ จังหวัดอ่างทอง โดยตั้งเป้าผลักดันให้เป็น ศูนย์การเรียนรู้ที่สามารถดึงเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นางสมร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยได้เดินหน้าโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข รวม 12 เขต ครอบคลุม 14 พื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์ชารางแดง “ชารากุล” ชุมชนเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 2) กุ้งกรอบสามรส “ยายหลีกะพี่ติ๋ว” จังหวัดสมุทรปราการ 3) ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ จังหวัดอ่างทอง 4) อาหารทะเล ณ ตลาดประมงท่าเรือพลี จังหวัดชลบุรี 5) เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา 6) พุทราหวานบ้านโพน “ทันสุข” จังหวัดกาฬสินธุ์ 7) ลำไยกึ่งอบแก้ง “ละพูน” จังหวัดลำพูน และเซรามิก “บ้านแม่ต๋ำ จังหวัดลำปาง 8) ผงจมูกข้าว “จันทร์หอม” และกล้วยม้วนอบ “แสงทอง” จังหวัดพิษณุโลก 9) ตู้ไปรษณีย์ยักษ์ ณ สวนผึ้ง และ “เด็ก คิด ปั้น” แกะดำทำดี จังหวัดราชบุรี 10) ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูด และศูนย์การเรียนรู้ จังหวัดนครศรีธรรมราช 11) ผ้าทอ “ยอทอมือ” เอกลักษณ์เมืองใต้ชาวเกาะยอ จังหวัดสงขลา และ 12) ข้าวฮางทิพย์ จังหวัดสกลนคร

ที่ผ่านมาโครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ได้ใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายไปรษณีย์ทั่วประเทศเติมความสุข เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการชุมชนที่เข้าร่วมได้เพิ่มขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อสร้างอาชีพร่วมกัน สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ในวงกว้าง เมื่อชุมชนเข้มแข็งในอนาคตก็จะสามารถส่งสินค้าออกไปบุกตลาดต่างประเทศได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น