ภูมิปัญญาท้องถิ่น กับการใช้จุลินทรีย์ ในการเกษตรอินทรีย์

ในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรไทยทำการเกษตรแบบหลากหลาย และพึ่งพิงความสมดุลตามธรรมชาติ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าคนไทยรู้จักการทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว และสามารถพึ่งตนเองในการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์ โดยใช้ทรัพยากรในพื้นที่ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะสมต่อเนื่องกันมาจนได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าเป็นอู่น้ำของภูมิภาค พันธุ์ข้าวไทยชนะเลิศการประกวดพันธุ์ข้าวของโลกเมื่อปี 2474 ที่เมืองเรจิน่า ประเทศคานาดา ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นสวรรค์ของพันธุ์ไม้ผล มีพื้นที่ป่าไม้มากกว่าครึ่งของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศมีดิน น้ำ ที่อุดมสมบูรณ์ดังคำพังเพยที่กล่าวกันจนติดปากว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว”

มนุษย์รู้จักการนำเอาจุลินทรีย์มาใช้ในการเกษตรมานับพันปีแล้ว โดยเฉพาะการนำมาใช้ในการแปรรูปผลผลิต การผลิตอาหาร การปรับปรุงบำรุงดิน และการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืช ในช่วง 3 ทศวรรษมานี้ ประเทศไทยได้มีการพัฒนาการใช้จุลินทรีย์ในการเกษตรมากขึ้น ซึ่งอาจจะแยกประเภทของจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ในการเกษตรออกเป็น 5 ประเภท คือ

1.ประเภทที่ใช้ในการผลิตอาหาร เช่น เห็ดชนิดต่างๆ

2.ประเภทที่ใช้ในการแปรรูปผลผลิต เช่น ยีสต์ เชื้อรา ฯลฯ

3.ประเภทที่ใช้ในการปรับปรุงดิน เช่น ไรโซเบียม ไมโคไรซ่า ฯลฯ

4.ประเภทที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น เชื้อ bacillus thuringieneses, เชื้อไวรัส NPV Nuclelar Polyhedrosis Virus, เชื้อรา Entomophthora grylli เป็นต้น

5.ประเภทที่ใช้ในการสร้างพลังงาน เช่น จุลินทรีย์ที่ใช้ทำก๊าซชีวภาพ
จะเห็นได้ว่าจุลินทรีย์มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก โดยเฉพาะในด้านการผลิตอาหารที่ปลอดจากสารเคมีนั้น จุลินทรีย์จะมีบทบาทที่ช่วยทดแทนการใช้สารเคมีได้มาก หรืออาจจะกล่าวได้ว่าสามารถจะใช้ทดแทนสารเคมีการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์แบบทีเดียว ที่กล่าวมานี้มิใช่จะเกินความเป็นจริง เพราะได้พิสูจน์ด้วยการปฏิบัติมาแล้วดังนี้คือ

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องจุลินทรีย์จากสามาคมเกษตรธรรมชาติเกาหลี

อาจารย์ภรณ์ ภูมิพันนา สตรีที่อดีตเคยเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ที่ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญาของเธอให้กับการเกษตรธรรมชาติ ให้ชักนำ Mr. Han Kyu Cho เกษตรกรชาวเกาหลีซึ่งเป็นประธานของสมาคมเกษตรธรรมชาติแห่งประเทศเกาหลี (The Korean Natural Farming Association –KNFA) ให้ได้มีโอกาสมาเสนอความรู้ในเรื่องการใช้จุลินทรีย์พื้นบ้าน (Indigenous Micro-organism-IMO) แก่เกษตรกร นักวิชาการและประชาชนโดยได้จัดการบรรยายขึ้นที่กรมวิชาการเกษตรและสถานที่ต่างๆ ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม 2540

จากความรู้ที่ได้รับจาก Mr. Cho ในครั้งนั้น กลุ่มของนักวิชาการและเกษตรกรไทยได้นำไปทดลองปฏิบัติทั้งผลิตและใช้ รวมทั้งบางรายสามารถจะผลิตเพื่อจำหน่ายได้ด้วย และด้วยความมหัศจรรย์ของ IMO ในการปรับปรุงบำรุงดิน การทำให้พืชแข็งแรงต้านทานต่อการทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งการช่วยขจัดสิ่งปฏิกูลทั้งในน้ำและในกองขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้เกษตรกรและประชาชนจำนวนมากได้นำไปใช้จากการเผยแพร่ของกลุ่มนักวิชาการ และนักปฏิบัติที่ได้ตั้งเป็นชมรมเกษตรธรรมชาติ จนขณะนี้มีผู้นำไปใช้อย่างได้ผลอย่างกว้างขวางในเวลาเพียงสามปีเศษเท่านั้น Koyama, A (1996) ได้รายงานไว้ในวิทยานิพนธ์ว่า Mr. Cho ได้แยกผลิตภัณฑ์ของจุลินทรีย์ พื้นฐานออกเป็น 5 ชนิด คือ

1. จุลินทรีย์พื้นบ้าน (Indigenous Micro-organisms)
สามารถจะเก็บได้จากธรรมชาติโดยใช้ข้าวหุงสุกแล้วใส่จานหรือถาดเกลี่ยให้หนาประมาณ 3 เซนติเมตร ปิดด้วยกระดาษ แล้วนำไปใส่ในกรง เพื่อกันหนูหรือสัตว์อื่นมากิน แล้วนำไปตั้งทิ้งไว้ใต้ต้นไม้ในป่าละเมาะ หรือภายในกองใบไม้แห้งที่มีผ้าพลาสติกคลุม เพื่อกันฝนและน้ำค้างที่มากเกินไป ทิ้งไว้ 5-6 วัน จะมีราสีขาวขึ้นคลุมหน้า จากนั้นให้เทข้าวใส่ในโถกระเบื้องดินเผา ผสมกับน้ำตาลแดงหรือกากน้ำตาล สัดส่วน 1/3 ของน้ำหนักข้าว ส่วนผสมนั้นจะกลายเป็นของเหลวข้นมีจุลินทรีย์เจริญอยู่มากมาย แล้วนำของเหลวนี้ไปผสมกับรำข้าวในสัดส่วนร้อยละ 0.2 ใช้กระสอบป่านคลุมจะเกิดความร้อน ต้องคอยควบคุมไม่ให้ความชื้นเกิดกว่าร้อยละ 65 แต่ถ้าแห้งเกินไปก็ให้พรมน้ำ ทิ้งไว้ 2-3 วัน จึงเอาไปคลุกผสมกับปุ๋ยคอก มูลสัตว์ในปริมาณ 30 – 50 เท่า แล้วคลุมไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็จะได้ปุ๋ยหมักสมบูรณ์ นำไปใส่ปรับปรุงดินประมาณ 1 กิโลกรัม / 1ตารางเมตร สำหรับการปลูกผักอินทรีย์

2. น้ำหมักพืช (Fermented Plant Juice-FPJ) 
ขณะที่คนไทยเรียกว่าน้ำสกัดชีวภาพ (Bio-Extract-B.E.) ผลิตภัณฑ์นี้ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก และมีสรรพคุณที่หลากหลายเช่นเดียวกับสาร อี.เอ็ม. วิธีการก็คือนำเศษพืช ถ้าหากเป็นพืชชนิดเดียวกับที่ปลูกอยู่ก็จะดี และไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนของพืชที่จะใช้เป็นอาหาร แต่อาจจะเป็นเศษเหลือที่จะทิ้งแล้วก็ได้ ในปริมาณ 3 ส่วนต่อน้ำตาลทรายแดงหรือกากน้ำตาล 1 ส่วน สำหรับเศษพืชนั้นควรจะสับให้มีขนาดเล็ก 2-3 นิ้ว แล้วใส่ในภาชนะคลุกเคล้าให้เข้ากันภาชนะไม่จำกัดชนิดและขนาดในสวนผักบางแห่งใช้วงซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.0-1.5 เมตร สำหรับทำบ่อส้วม จำนวน 3 วง มาเชื่อมต่อกันเป็นภาชนะ โดยมีทอเปิดด้านล่าง เมื่อหมักได้ที่ ซึ่งจะใช้เวลา 5-7 วันก็จะได้น้ำหมักพืชหรือน้ำสกัดชีวภาพตามต้องการ น้ำหมักพืชนี้จะต้องนำไปเจือจางในน้ำธรรมดาในอัตรา 1:1,000 1 ช้อนแกง (10 ซีซี) ต่อน้ำ 10 ลิตร (1,000 ซีซี) ใช้รดพืชผักและใช้รดลงในดินที่ปลูกพืช

3. ซีรั่ม ของจุลินทรีย์ในกรดน้ำนม (Lactic Acid Bacteria Serum, LAS)
เตรียมได้จากการดึงเอาจุลินทรีย์ในอากาศมาอยู่ในน้ำซาวข้าว แล้วจึงนำไปเพาะเลี้ยงในน้ำนมอีกให้เกิดเป็น ซีรั่มของกรดแล็คติค ใช้น้ำหมักนี้ในการพ่นลงบนใบพืชให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันโรคพืช

4. กรดอะมิโนจากปลา (Fish Amino acid, FAA)
ทำได้จากการนำเอกเศษปลามาผสมกับน้ำตาลทรายแดง อัตราส่วน 1/1 หมักทิ้งไว้ 30 วันหรือนานกว่าก็ได้ (หรืออาจจะใช้กากน้ำตาล) น้ำจากการหมักนี้จะเป็นแหล่งของธาตุไนโตรเจนให้กับพืชอย่างดีเยี่ยม

5. สุราหมักจากข้าวกล้อง (Brown Rice Vinegar)
สุราเกิดจากการหมักของข้าวกล้อง หรือถ้าไม่มีก็น่าจะใช้สุราขาวที่มีขายโดยทั่วไป นำมาผสมน้ำให้เจือจาง ฉีดพ่นบนใบพืชจะทำให้พืชแข็งแรงต้านทานต่อโรคพืชได้

– เอนไซม์ คือ สารอินทรีย์ที่พืชและสัตว์ รวมทั้งจุลินทรีย์สร้างขึ้นในขบวนการหมัก (fermentation) มีหน้าที่ช่วยในการทำงานของทุกระบบในสิ่งมีชีวิตทั้งหมด สิ่งมีชีวิต จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเอนไซม์ เอนไซม์บางชนิดทำหน้าที่ย่อยอาหารในคนและสัตว์ จุลินทรีย์ผลิตเอนไซม์เพื่อย่อยอินทรียวัตถุให้เป็นสารอินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อ
จุลินทรีย์เองและต้นไม้

– ฮอร์โมน เป็นสารอินทรีย์อีกชนิดหนึ่งที่พืช สัตว์และจุลินทรีย์สร้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของส่วนต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตในคนและสัตว์ ฮอร์โมนในพืชชนิดที่เราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ จี.เอ. หรือจิบเบอร์เรลลิค (Giberellic) อ๊อคซิน (Auxin) จุลินทรีย์ก็สามารถผลิตฮอร์โมนต่างๆ ได้เช่นเดียวกับพืชและสัตว์

 ความเข้าใจต่อบทบาทจุลินทรีย์ 

จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถพิเศษ สามารถมีชีวิตและขยายพันธุ์ได้โดยอาศัยอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร จุลินทรย์หลายชนิดรวมกันและอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน จุลินทรีย์มีความหลากหลายของชนิดที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้แม้ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด เย็นจัดหรือแห้งแล้งจัด แตกต่างกันไปตามคุณสมบัติของแต่ละชนิดด้วยเทคนิคจุลินทรีย์การปลูกพืชอินทรีย์ โดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี เพราะพืชสามารถสังเคราะห์อาหารได้เองเกือบทั้งหมด ส่วนที่ขาดก็จะได้จากการย่อยสลายของอินทรียวัตถุที่ได้จากซากสัตว์ และพืช รวมทั้งซากของจุลินทรีย์ โดยจุลินทรีย์จะผลิตเอนไซม์ออกมาย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นธาตุอาหารสำหรับจุลินทรีย์เองและพืชก็จะได้รับประโยชน์ด้วยจากการดูดเข้าไปทางรากในรูปแบบของสารอินทรีย์ต่างๆ เช่น กรดอะมิโน กลูโคส ไวตามิน ฮอร์โมนและแร่ธาตุ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น