เปิดการท่องเที่ยวเมียนมา…ดินแดนแห่งเจดีย์ทองคำ

เมื่อพูดถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างพม่าขึ้นมา หลายคนอดจะนึกถึงภาพของกลุ่มคนที่ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และภาพของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างประชาชนกับรัฐบาลทหารของพม่าไว้ไม่ได้

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่ามีมาต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ภาพลักษณ์ของพม่าที่ปรากฏออกมาสู่สาธารณชนนั้น ไม่ค่อยสู้ดีนัก การต่อสู้ดังกล่าวนอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวพม่าทุกย่อมหญ้าแล้ว ชาวพม่ายังถูก ริดรอนเสรีภาพในการดำเนินชีวิต จนเป็นสาเหตุ ทำให้มีชาวพม่าจำนวนมากอพยพหนีตายออกนอกประเทศ เป็นภาระของประเทศที่สามที่จะต้องเข้ามาดูแล

จะว่าไปแล้วในประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนพม่า ไม่ได้เป็นกลุ่มชนที่รุกรานหรือการกระหายสงครามแต่อย่างใด หากแต่ประเทศพม่าเป็นดินแดนแห่งเจดีย์ทองคำและวัดวาอารามที่งดงามน่าพิศวงเหนือคำบรรยาย ด้วยศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนาและความเรียบง่ายในการดำรงชีวิตทำให้พม่ายังคงเสน่ห์แห่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่

นักวิชาการหลายท่านได้ศึกษาปัญหา ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพม่าระหว่างช่วงที่รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจ มีความเป็นห่วงถึงจำนวนเงินมหาศาลที่หายไปกับการท่องเที่ยวของพม่า พบว่าก่อนที่รัฐบาลทหารของพม่า (สล็อค) จะเข้ามายึดอำนาจ ปี 2526 – 2531 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพม่ามากถึง 198,030 คน มีรายได้เข้าประเทศถึง 77,230 เหรียญสหรัฐ แต่หลังจากที่รัฐบาลทหารพม่าเข้ายึดครองอำนาจพบว่าในระหว่างปี 2532 – 2535 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาพม่าเพียงแค่ 31,017 คนเท่านั้น

ขณะเดียวกันเมื่อครั้งที่รัฐบาลพม่าได้มีการรณรงค์ให้มีการท่องเที่ยวในพม่าเมื่อปี 2539 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาพม่าเพียง 61,452 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับความคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในปีการท่องเที่ยวพม่าสูงถึง 500,000 คน นับว่าน้อยมาก ขณะที่รัฐบาลพม่ายุคใหม่ได้เปิดเสรีแห่งการท่องเที่ยวในพม่าขึ้น ทว่ากลับมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มากเดินทางเข้าไปเที่ยวในพม่าเนื่องจากยังไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางการเมืองและความปลอดภัยในชีวิต

กล่าวกันว่าปัจจุบันการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมที่เจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนถึง 7.5% ของการค้าโลกทั้งหมด นโยบายเส้นทางพม่าสู่ทุนนิยม ถูกงัดออกมาใช้ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2535 อันทำให้พม่าจำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก การประกาศปีการท่องเที่ยวของพม่าเมื่อปี 2539 ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารเริ่มลงมือปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศ รัฐบาลทหารของพม่าได้ก่อตั้งกระทรวงการโรงแรมและการท่องเที่ยวขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ดังเช่นการทุบทำลายหอหลวงเจ้าฟ้าเชียงตุงแล้วสร้างเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ระดับ 3 ดาวขึ้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กำลังจะขยายตัวในอีกไม่กี่ปี ความเข้มงวดในเรื่องวีซ่า จึงค่อยๆ ได้รับการผ่อนปรนลงทีละน้อย ในปี 2533 นักท่องเที่ยวสามารถไปเยือนได้ในเฉพาะเขตที่กำหนดไว้เท่านั้นโดยการไปกับกลุ่มทัวร์ และสามารถพักอยู่ที่นั่นได้เพียง 2 สัปดาห์

ปัจจุบันรัฐบาลพม่าเปิดเสรีด้านการท่องเที่ยว ด้วยการยกเลิกค่า F.E.C. (FOREIGN EXCHANGE CERTIFICATE) นักท่องเที่ยวสามารถอยู่ในพม่าได้นานถึง 4 สัปดาห์ โดยขอวีซ่าจากสถานทูตพม่าในประเทศไทย ทำให้มีนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยือนประเทศพม่ามากขึ้น นักเดินทางผู้เคยเดินทางเข้าออกพม่าต่างลงความเห็นว่า คงไม่มีช่วงเวลาใดที่เหมาะสมจะมาเที่ยวพม่าไปยิ่งกว่าเวลานี้อีกแล้ว

หัวเมืองสำคัญที่เป็นอู่อารยธรรมและกรุสมบัติทางการท่องเที่ยว ไม่ใช่เมืองหลวงอย่างย่างกุ้งอย่างที่หลายคนคิด ย่างกุ้งแทบไม่ได้อยู่ในโปรแกรมทางการท่องเที่ยวของพม่าเลย เพราะจุดสนใจทางศิลปวัฒนธรรมของพม่ารวมอยู่ทางภาคเหนือและภาคกลาง โดยเฉพาะที่พุกามและมัณฑะเลย์เกือบทั้งหมด

มัณฑะเลย์ อดีตราชธานีแห่งสุดท้ายของพม่าก่อนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้มัณฑะเลย์จะเคยเป็นยุคทองของพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมแบบพม่า แต่ด้วยความเป็นเมืองธุรกิจการค้าในดินแดนตอนเหนือของพม่าปัจจุบัน โดยเฉพาะการเป็นตลาดใหญ่ของอัญมณีที่หลั่งไหลมาจากรัฐกะฉิ่นซึ่งอยู่ทางเหนือสุด มัณฑะเลย์จึงพลุกพล่านไปด้วยนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสจิตวิญญาณของพม่า เมื่อครั้งเคยรุ่งเรืองด้วยพระราชวังไม้สักทองและความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะมาปิดทองหรือทำบุญที่วัดยะไข่ หรือวัดมหามุณี อันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหามุณี หนึ่งในห้าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำประเทศพม่า

เมืองมัณฑะเลย์ เคยเป็นราชธานีของเขตพม่าตอนบน แต่กลับมาอายุเก่าแก่ไม่ถึง 150 ปี และยังเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่เมืองของพม่าที่ยังคงใช้ชื่อเดิมเรื่อยมาโดยไม่เปลี่ยนแปลง ชื่อ มัณฑะเลย์ ฟังดูเก่าแก่โบราณ พอๆ กับแม่น้ำเอยาวดี หรือ อิระวดี ที่ทอดสายไหลเอื่อยผ่านตัวเมืองแห่งนี้ เสน่ห์ของเมืองมัณฑะเลย์อยู่ที่การเป็นราชธานีแห่งสุดท้ายของระบอบกษัตริย์พม่า ก่อนจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ย่างกุ้ง กระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในเวลาต่อมา
ปัจจุบันมัณฑะเลย์เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากย่างกุ้ง และเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าธุรกิจและตลาดอัญมณีของพม่าตอนเหนือ แต่กระนั้นในวงล้อมของตึกรามที่ติดจานดาวเทียมบนหลังคา มัณฑะเลย์จึงมีงานสถาปัตยกรรมแบบเครื่องไม้ ระดับสุดยอดอย่างวิหารทองคำที่วัดชเวนันดอ อีกทั้งมัณฑะเลย์เคยเป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาของโลกยุคหนึ่ง ซึ่งปรากฏร่องรอยการชำระพระไตรปิฎก ครั้งที่ 5 ที่วัดกุโสดอ ทำให้เราเห็นกับตาจากแผ่นหินอ่อนจารึกหลักธรรมในพุทธศาสนาทั้ง 729 แผ่น อันเป็นเหตุให้หนังสือกินเนสบุ๊คต้องจารึกว่า นี่คือหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็ว่าได้

แต่ครั้นใช้เวลาเพียง 20 นาทีจากเมืองมัณฑะเลย์มุ่งหน้าสู่พุกาม โดยสายการบินภายในประเทศ จะพบว่าความวุ่นวายของสังคมเมืองแบบพม่าอันตรธานหายไป กลายเป็นอารมณ์ละเมียด สุขสงบจากการพบเห็นวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวพุกาม

พุกามหรือปะกาน เป้าหมายทางการท่องเที่ยวอันดับหนึ่งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวกันว่าหากใครเดินทางมาพม่าแล้วไม่ได้แวะเยือนเมืองพุกาม ก็ยังนับว่ามาไม่ถึงพม่า เมืองพุกามได้รับสมญาว่าเป็น “ดินแดนเจดีย์สี่พันองค์” ทว่าปัจจุบันจากการสำรวจพบว่าเหลืออยู่เพียง 2,800 กว่าองค์ ความมีชื่อเสียงของพุกามผนวกกับประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ จึงทำให้องค์การยูเนสโกไม่ลังเลใจที่จะประกาศขึ้นทะเบียนเมืองประวัติศาสตร์พุกามแห่งนี้ให้เป็นมรดกโลก

อาณาจักรพุกามสร้างขึ้นโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์ ผู้รวบรวมพม่าให้เป็นปึกแผ่น หลังจากที่พระองค์ทรงยกทัพไปตีเมืองตะโถ่งได้ในปี ค.ศ.1057 จากนั้นมาจึงมีการสร้างวัดวาอารามและสถูปเจดีย์ขึ้นบนที่ราบอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ว่า 13,000 องค์ ในต้นคริตสศตวรรษที่ 2 พระเจ้าตะมุดะริด (สมุทรฤทธิ์) ทรงนำชาวพยูมาตั้งบ้านเรือนขึ้นในเขตที่ราบพุกาม หลังจากนั้นจึงได้ก่อสร้างกำแพงเมืงขึ้นล้อมรอบเมื่อ ค.ศ.849 ในรัชสมัยของพระเจ้าปหยิ่นปยา ครั้นเมื่อพระเจ้าอโนรธาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 42 แห่งราชวงศ์พุกาม พระองค์ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองจนรุ่งเรือง พระเจ้าอโนรธาปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ.1044 พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์พุกามด้วยการพิชิตราชธานีของชาวมอญและยังรับเอาศาสนาพุทธจากอินเดียกับศิลปวัฒนธรรมจากชาวมอญมาเป็นเอกลักษณ์ของชาติตราบจนทุกวันนี้ เมืองพุกามเคยเป็นราชธานียาวนานถึง 250 ปี

ปัจจุบันเหล่าเจดีย์ที่แสดงถึงศรัทธาในพุทธศาสนาของพุกามพังทลายไปตามกาลเวลากับด้วยเหตุแห่งการกัดเซาะของน้ำในแม่น้ำอิระวดีพัดหายไปเป็นจำนวนมาก ในเวลาเพียง 700 กว่าปี มีเจดีย์สูญหายไปกว่าหนึ่งหมื่นองค์ แต่มรดกยุคทองของการสร้างวัดวาอารามที่เหลือตกทอดมาให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมก็ยังนับว่ามีอยู่ไม่น้อย รวมถึงได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี มีการจัดสรรที่อยู่ของประชาชนโดยไม่ให้รบกวนโบราณสถาน

พุกามเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สงบเงียบ เอื้อต่อการซึบซับรากฐานทางวัฒนธรรมและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งส่งอิทธิพลต่อพม่าในยุคต่อมารวมไปถึงดินแดนล้านนาของไทย ความที่ไม่ใช่ศูนย์กลางธุรกิจการค้า จึงทำให้ถนนในเมืองพุกามไม่พลุกพล่าน เว้นแต่รถของนักท่องเที่ยวแล้วก็จะมีแต่รถม้าและจักรยานผ่านไปมาตามเจดีย์ต่างๆ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วเมือง เขตโบราณสถานของพุกามนั้นได้รับการดูแลค่อนข้างดี บางแห่งมีการบูรณะขึ้นใหม่ ชุมชนเมืองกับเขตโบราณสถานแยกกันเป็นสัดส่วน เมื่อผ่านประตูเมืองเก่า (THARABAR GATE) เราจึงได้ยินแต่เสียงกอบแกบของเกือกม้าที่ย่ำไปบนถนนราดยางมะตอย สวนทางกับรถจักรยานที่เป็นพาหนะยอดฮิตของที่นี่

ถ้าพุกาม ตั้งอยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวสำคัญของเอเชียแทนที่จะเป็นที่ราบอันร้อนและแห้งแล้งในภาคกลางของพม่าเช่นนี้แล้ว พุกามก็คงจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นในหมู่ชาวตะวันตกไม่ต่างจากกำแพงเมืองจีนหรือทัชมาฮาลในอินเดียไปนานแล้ว และด้วยความที่พุกามตั้งอยู่ในดินแดนอันแร้นแค้นของพม่าจึงทำให้การเดินทางมาเยือนเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ในอดีตเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ทว่าปัจจุบัน การเดินทางไปมัณฑะเลย์-พุกาม ไม่ได้ยากอย่างที่คิดใช้เวลาไม่นาน จะไปแบบแบ็คแพคหรือแบบกรุ๊ปทัวร์ก็ได้ทั้งนั้น ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพง อัตราแลกเปลี่ยนเงินพม่า 1 บาท เท่ากับ 30 จั๊ต และมีหลายบริษัทเปิดกิจการท่องเที่ยวไปประเทศพม่า

พม่าดินแดนแห่งรวงข้าวและสายน้ำ

ประเทศพม่ามีรูปร่างสัณฐานคล้ายว่าวปักเป้า มีเทือกเขาตะนิ่นตายีเป็นหาง มีแม่น้ำอิระวดีเป็นสายป่าน ด้วยเหตุที่เป็นศูนย์กลางการปลูกข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของพม่า แม่น้ำอิระวีจึงเปรียบเสมือนเส้นโลหิตใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงผืนแผ่นดินอันไพศาล จากต้นน้ำในเขตหิมาลัย อิระวดีไหลผ่านประเทศจากเหนือจรดใต้เป็นระยะทางทั้งสิ้น 2,170 กิโลเมตร ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลอันดามันที่ปากแม่น้ำสามเหลี่ยมเก้าแฉก ชาวอังกฤษเรียกลำน้ำนี้ว่า “ถนนสู่มัณฑะเลย์”

พม่ามีพื้นที่ 676,577 ตารางกิโลเมตร จัดเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ มีประชากรราว 49 ล้านคน เมืองที่มีประชากรมากที่สุดได้แก่ ย่างกุ้ง รองลงมาคือมัณฑะเลย์และเมาะลัมไยน์

ด้วยความที่พม่าเป็นประเทศพม่าที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ก่อตั้งขึ้นมาราว 1,000 กว่าปี ทำให้พม่ามีความน่าสนใจรวมทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทาง ประวัติศาสตร์และธรรมชาติมากมาย โดยเฉพาะที่เมืองมัณฑะเลย์และพุกาม
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในเมืองมัณฑะเลย์

พระราชวังมัณฑะเลย์ของพระเจ้ามินดงและกษัตริย์สีป้อ พระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของพม่า ก่อนเสียเอกราชให้กับอังกฤษ สร้างขึ้นจากไม้สักทองทั้งหลังอยู่ในเขตกำแพงเมืองมีคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ภายในพระราชวังมีส่วนของอาคารทั้งแบบพม่า ยุโรปที่ทรงคุณค่าและสวยงามมาก

วัดยะไข่ หรือ วัดมหามุณี เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามุณี พระพุทธรูปสำริดปิดทองศิลปกรรมแบบพม่า มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพม่า ทุกๆ เช้าจะมีพิธีล้างหน้าพระตอนประมาณตีสี่ ถือเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวพม่า
วัดกุโสดอ เป็นวัดที่เคยทำสังคายนาพระไตรปิฏก ครั้งที่ 5 ของโลก ภายในวัดมีแผ่นศิลาจารึกพระไตรปิฏกทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์

วัดชเวนันดอ สร้างจากไม้สักทั้งหลัง แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจง ทั้งหลังคา บานประตูและหน้าต่าง เน้นรายละเอียดเกี่ยวกับพุทธประวัติและทศชาติของพระพุทธเจ้า ตามแบบศิลปะพม่าแท้ๆ

สะพานอูเป็ง เป็นสะพานไม้สักที่นำมาจากพระราชวังในเมือง อังวะ สร้างขึ้นกว่า 200 ปีแล้วทอดข้ามทะเลสาบตองตะมัน มีความยาว 1,200 เมตร ถือว่าเป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในเมืองพุกาม

เจดีย์ชเวซิกอง เป็นเจดีย์องค์ใหญ่สีทองอร่าม สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธามหาราช แต่ไม่เสร็จดีจนกระทั่งมาเสร็จในรัชสมัยของพระเจ้าจันสิธา เมื่อปี ค.ศ.1656 เชื่อกันว่าภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า รูปแบบของเจดีย์ชเวซิกองนี้ต่อมาเป็นแบบอย่างของการสร้างเจดีย์ในพม่ารวมถึงพระมหาเจดีย์ชเวดากอง

วัดทิโลมินโล สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ไตรโลกมงคล สร้างด้วยพระเจ้าติโลมิโล เมื่อปี ค.ศ.1716 ได้รับการยกย่องว่ามีความสวยงามมากทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะปูนปั้นบริเวณฐาน

เจดีย์อานันทะ เป็นวิหารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยื่นออกไป 4 ด้าน แต่ละด้านมีซุ้มคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสูง 10 เมตร เป็นศิลปะแบบพุกามดั้งเดิม

เจดีย์สัพพัญญู เป็นวิหารที่สูงที่สุดในพุกาม ความสูง 201 ฟุต เป็น วัดประจำรัชกาลพระเจ้าอลองสินธ สร้างเลียนแบบวัดในประเทศอินเดีย สูงห้าชั้น ชั้นที่สี่เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฏกฉบับต้นแบบ ชั้นที่ห้าเป็นองค์สถูป

เจดีย์กูบยางคยี สร้างโดยพระโอรสของพระเจ้าจันสิทธะ ในปี ค.ศ.1656 พระเจดีย์แห่งนี้เป็นศิลปะแบบพยูหรือพุกามตอนต้น ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามที่สุดของเมืองพุกามลงเหลืออยู่

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น