ดันสมุนไพร อุตฯเป้าหมาย นวัตกรรมชาติ


สนช.ชี้ ธุรกิจท่องเที่ยว-บริการและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เป็น 2 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในแผนการสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ธุรกิจท่องเที่ยว-บริการและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เป็น 2 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในแผนการสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.ผ่าน “โครงการนวัตกรรมมุ่งเป้า” มุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมในระดับสาขาหรือประเด็นที่มีผลกระทบต่ออนาคตของประเทศ
นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า สนช. ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนานวัตกรรมที่สร้างมูลค่าและผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยพัฒนากลไกการสนับสนุนแบบใหม่ในชื่อโครงการ “นวัตกรรมแบบมุ่งเป้า” สามารถสนับสนุนได้สูงสุดโครงการละไม่เกิน 10 ล้านบาท
สนช.มุ่งหวังว่าโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้านี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทย ในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมผ่านความร่วมมือเชื่อมโยงองค์ความรู้จากทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถด้านการพัฒนานวัตกรรมและเป็นต้นแบบโครงการนวัตกรรมในอุตฯ เป้าหมายของรัฐบาล ที่จะช่วยแก้ปัญหาและยกระดับการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ประเทศฐานนวัตกรรม และส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าและผลกระทบสูงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตฯ เป้าหมายอย่างก้าวกระโดด
นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นอุตฯ แรกที่ต้องปรับตัวให้สามารถตอบสนองพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป โดยจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวซึ่งรวมถึงบุคลากรให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะทักษะทางภาษาอังกฤษและจีน รวมถึงมีความอดทนมากขึ้น
เทคโนโลยีจะช่วยให้การทำงานบางส่วนง่ายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น อาทิ การใช้ช่องทางออนไลน์ติดต่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยวภายใต้กลยุทธ์โอทูโอ (Online to Offline) ที่ผสมผสานการทำตลาดออนไลน์และตลาดออฟไลน์ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ
“แม้ว่าระบบออนไลน์จะช่วยให้การบริหารจัดการง่ายขึ้น แต่การสร้างความประทับใจต้องใช้ช่องทางออฟไลน์ ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวไทยติดอันดับ 3 ของโลก สร้างรายได้ปีละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ รองจากสหรัฐฯ และสเปน อีกทั้งจีดีพี 20% ของประเทศมาจากธุรกิจท่องเที่ยว”
อย่างไรก็ตาม รายได้จากการท่องเที่ยวยังกระจุกอยู่ 10 จังหวัด เช่น กรุงเทพ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต เนื่องจากขาดการวางแผนการบริหารจัดการที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่อื่นๆ ฉะนั้น ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการโดยเน้นซัพพลายนำการตลาด เช่น สถานที่ประเภทใดเหมาะกับนักท่องเที่ยวกลุ่มใด จำนวนที่รองรับได้
จากนั้นให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำหน้าที่บริหารต่อเพื่อให้ได้นักท่องเที่ยวที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการกระจายจำนวนนักท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลกับทรัพยกรธรรมชาติที่มีอยู่ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เข้าถึงแหล่งข้อมูล แหล่งท่องเที่ยว กฎกติกาและวิถีชีวิตของคนไทย พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจำนวนแรงงานที่ขาดแคลน เช่น การนำเสนอระบบออดิโอไกด์ให้ข้อมูลพื้นฐานแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น
นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย กล่าวว่า ตลาดสมุนไพรมีขนาดเล็กมากแต่ถือว่ามีศักยภาพสูงโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อีกทั้งอุตฯ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีความพร้อมของผู้ประกอบการทั้งกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบ สมุนไพรเพื่อการปศุสัตว์ สมุนไพรเพื่อการเกษตร สารสกัดสมุนไพร อาหารและเสริมอาหาร เครื่องสำอาง-ผลิตภัณฑ์สปา และอุปกรณ์เพื่อการแพทย์ทางเลือก
ส่วนหนึ่งเกิดจากเทรนด์ต่างประเทศที่ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบันที่สกัดจากเคมี จึงปลอดภัยมากกว่า
“เป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรเพื่อการรักษาโรคสำหรับวัยทำงานหรือกลุ่มผู้สูงอายุ และนวัตกรรมสมุนไพรสำหรับบำรุงสุขภาพเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันหรือเสริมสมรรถภาพ จะส่งผลดีต่ออุตฯ สมุนไพรไทยในอนาคตที่เป็นจุดแข็งให้กับประเทศ”
ทั้งนี้ ส่วนที่เหลืออีก 3 อุตฯ เป้าหมายของโครงการนวัตกรรมมุ่งเป้า ได้แก่ ธุรกิจที่ใช้อากาศยานไร้คนขับ อุตฯ การผลิตที่ใช้เทคโนโลยี IoT และ อุตฯ อาหาร-สังคมเมือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น