ใช้วิธีผสมผสาน กำจัด “หอยเชอรี่”

การจัดการหอยเชอรี่ให้ประสบผลสำเร็จ จำเป็นต้องใช้วิธีการต่าง ๆ ร่วมกันการใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียวจะทำให้การกำจัดไม่ได้ผล อีกทั้งยังต้องใช้สารเคมีในปริมาณมากขึ้น ดังนั้นเกษตรกรควรคำนึงว่าการจัดการหอยเชอรี่ที่ดีที่สุดคือใช้วิธีผสมผสานโดยปฏิบัติดังนี้
1.ใช้วัสดุกั้นทางที่ไขน้ำเข้านา หอยเชอรี่แพร่กระจายและระบาดเข้าสู่นาข้าว โดยทางน้ำเท่านั้น ดังนั้นทุกครั้งที่สูบน้ำเข้านาไม่ว่าจะเป็นนาดำหรือนาหว่านให้ใช้เฝือกกันสวะและหอยที่มีขนาดใหญ่ก่อน แล้วจึงกั้นตามอีกชั้นด้วยตาข่ายไนล่อนตาถี่ ต้องเก็บหอยและสวะออกจากตาข่ายเพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำเข้าอย่างสม่ำเสมอ
2.ทำลายตัวหอยและไข่ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในเวลาเช้าหรือเย็น โดยใช้กระชอนที่มีด้านยาวช้อนตัวหอยและไข่ ซึ่งตัวหอยจะอยู่บริเวณที่ลุ่มหรือที่ร่มข้างคันนา ส่วนไข่มักจะติดอยู่ตามต้นข้าวและวัชพืช ทั้งนี้เพราะถ้าปล่อยทิ้งให้หอยอยู่ในนาข้าว หอยจะกัดกินต้นข้าวและวางไข่ แพร่ลูกหลานอีกจำนวนมาก
3.การนำหอยเชอรี่มาทำประโยชน์ เช่น ทำอาหารบริโภคในครัวเรือน นำมาจำหน่ายหรือนำมาเป็นอาหารสัตว์ต่าง ๆ แต่ไม่ควรเก็บหอยเชอรี่จากบริเวณที่ใช้สารเคมีหรือแหล่งน้ำบริเวณอุตสาหกรรมมาใช้อย่างเด็ดขาด และการนำหอยเชอรี่มาทำปุ๋ยน้ำหมัก

4.ใช้สารฆ่าหอย เพื่อกำจัดหอยที่ฝังตัวจำศีลค้างอยู่ในนาตั้งแต่ฤดูที่แล้ว การใช้สารฆ่าหอยจะต้องใช้ขณะที่น้ำในนาสูง 5 ซม. และต้องฉีดพ่นให้มากขึ้นในบริเวณที่ลุ่ม ซึ่งหอยมักจะรวมกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในนาดำจึงต้องพ่นให้มากขึ้นในบริเวณที่ลุ่ม ซึ่งหอยมักจะรวมกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในนาดำจึงต้องพ่นให้มากขึ้นในบริเวณที่ลุ่ม ส่วนในนาหว่านน้ำตมให้ใช้สารฆ่าหอยหลังจากหว่านข้าวและไขน้ำเข้านา 1 – 2 ซม. และระดับ น้ำสูงคงที่ 5 ซม. ข้อสำคัญในการใช้สารฆ่าหอยคือจะต้องใช้เพียงครั้งเดียวต่อฤดูปลูกข้าว ใช้ในวันที่ฝนไม่ตกและใช้เฉพาะที่กองกีฎและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตรแนะนำเท่านั้น
5.ควบคุมระดับน้ำ ภายหลังใส่สารอย่างน้อย 2 วัน ต้องควบคุมให้ระดับน้ำสูงเฉลี่ย 5 ซม. ทั้งนี้เพื่อรักษาความเข้มข้นของสารฆ่าหอยที่ใส่ลงในนาข้าว ถ้าน้ำมากหรือน้อยเกินไปปริมาณสารที่หอยได้รับจะไม่เพียงพอที่จะทำให้หอยตาย หลังจากระยะนี้ผ่านไปแล้ว ถ้าหากเป็นไปได้ควรลดระดับน้ำในนาให้ต่ำที่สุด เพื่อป้องกันหอยที่เหลือกัดทำลายต้นข้าว
+++การป้องกันและกำจัดโดยวิธีผสมผสาน +++
เนื่องจากหอยเชอรี่ เป็นหอยที่เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ระบาดแพร่กระจายโดยลอยไปตามน้ำไหล กินพืชน้ำได้เกือบทุกชนิด วิธีการป้องกันและกำจัดที่ให้ผลดีควรจะป้องกันและกำจัดโดยวิธีผสมผสาน ซึ่งเป็นการนำเอาวิธีการป้องกันหลาย ๆ วิธีมาดำเนินการ ในระยะเวลาที่เหมาะสมและตามความจำเป็นคือ
1. วิธีกล
1.1 เก็บกลุ่มไข่และตัวหอยมาบดทำลายหรือบดหอยเชอรี่ใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ ปลา กะ ตะพาบน้ำ หรือเลี้ยงเป็ด ก่อนปลูกข้าวหรือหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วควรทำอย่างต่อเนื่องตลอดปี หากเกษตรกรจะนำเนื้อหอยมาประกอบเป็นอาหารบริโภคจะต้องต้มให้สุกก่อนเสมอ เพื่อฆ่าตัวพยาธิที่อาจติดมากับหอย และการจับหอยเชอรี่มาบดเพื่อทำปุ๋ยน้ำหมักใช้กับพืชต่าง ๆ
1.2 ใช้ตาข่ายไนล่อนชนิดตาถี่ ดักจับหอยเชอรี่ขณะสูบน้ำเข้านา
1.3 เมื่อเตรียมเทือกเพื่อหว่านเมื่อปักดำเสร็จแล้ว ควรทิ้งไว้ 2 – 3 วัน ให้มีน้ำขังอยู่ในระดับ 5 – 10 ซม. และหาที่กำบังร่ม ใช้ใบหญ้าอ่อนล่อให้หอยเชอรี่มากิน แล้วคอยเก็บหอยที่มากินหรือมาหลบแดด นำมาทำลายหรือทำประโยชน์ให้หมด
2. ชีววิธี
2.1 ใช้สัตว์ตัวน้ำ เช่น นกปากห่าง นกกระยาง นกอีลุ้ม เป็ด ฯลฯ กินหอยเชอรี่เป็นอาหารในฤดูปลูกข้าว ทั้งก่อนเพาะปลูกหรือหลังการเก็บเกี่ยวข้าว โดยอาจปล่อยฝูงเป็ดเข้าไปในนา เพื่อให้เป็ดกินหอยเชอรี่ที่หลงเหลือจากการกำจัดโดยวิธีกล
2.2 วิธีการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เกษตรกรควรจะช่วยกันอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองนกปากห่าง รวมทั้งสัตว์อื่น ๆ ที่กินหอยเป็นอาหาร เพื่อช่วยกำจัดอีกทางหนึ่งด้วย
3. วิธีการใช้สารเคมี
ถ้าไม่จำเป็นเกษตรกรไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดหอย เพราะเปลือกหอยที่ตายแล้วในนาจะบาดมือและเท้าเกษตรกรขณะทำนา เกษตรกรอาจได้รับเชื้อโรคผ่านทางบาดแผลได้ง่าย โดยเฉพาะโรคฉี่หนูหรือโรคเล็ปโตสไปโรซีส ซึ่งกำลังระบาดรุนแรงอยู่ในขณะนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น