ปส.เดินหน้าเพิ่มศักยภาพ ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในระดับสากล

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.)จับมือประเทศสมาชิก ASEANTOM ร่วมเดินหน้าเพิ่มศักยภาพพร้อมยกระดับความร่วมมือ กำกับดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในระดับสากล

ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมประจำปี ครั้งที่ ๔ ของเครือข่ายหน่วยงานกำกับดูแลการใช้พลังงานปรมาณูในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Network of Regulatory Bodies on Atomic Energy : ASEANTOM) โดยสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่๗ – ๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมประจำปีของประเทศสมาชิกอาเซียนตอม จาก ๑๐ ประเทศอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย เพื่อติดตาม รับฟังผลการดำเนินงานจากประเทศสมาชิก ในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งหารือเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๑ และรวมถึงร่วมกำหนดทิศทางในอนาคตของเครือข่าย ASEANTOM

ดร.อัจฉรา กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทย โดย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งเครือข่าย ASEANTOM ในปี พ.ศ. 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมการกำกับดูแลด้านความปลอดภัย (Safety) ความมั่นคงปลอดภัย (Security) และการพิทักษ์ความปลอดภัย (Safeguards) รวมทั้งเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณูภายในภูมิภาคที่จะเติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่ง ASEANTOM ได้รับการยอมรับทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล โดยมีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับ IAEA และโครงการร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคอาเซียน และได้มีการดำเนินกิจกรรมภายใต้เครือข่าย ASEANTOM อย่างต่อเนื่อง และในรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ปส. ได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้เครือข่าย ASEANTOM เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ในกรอบอาเซียน

โดย ปส. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของเครือข่ายความปลอดภัยและมั่นคงทางนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคอาเซียน เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าประชุมจากประเทศสมาชิกในอาเซียนทั้งหมดกว่า ๑๓๐ คน นอกจากนี้ ปส. ยังได้แสดงศักยภาพของบุคลากรในระดับสากล โดยการริเริ่มโครงการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ จัดโครงการถ่ายทอดความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีและระดับรังสีในสิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น

เครือข่าย ASEANTOM เป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความร่วมมือเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่าง IAEA กับ อาเซียน เพื่อการประสานความร่วมมือทางวิชาการและให้ความช่วยเหลือด้านการกำกับดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ อย่างยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น