ดันภาคเหนือ หัวหอก เกษตรอินทรีย์

เกษตรฯ เปิดเวทีใหญ่ภาคเหนือ ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมจับมือ 4 ภาคี ภาครัฐ เกษตรกร สถาบันการศึกษา และเอกชน ลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ร่วมกัน ย้ำก้าวสำคัญและความมุ่งมั่นเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย
เมื่อวันที่ผ่านมา นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ พร้อมทั้งเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารหอพัก 700 ปี สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
โดย นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 มีมติให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2564 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงาน และได้เร่งรัดให้ทุกภาคส่วนดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมผ่านคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ระดับภาค 6 ภูมิภาค และคณะทำงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด
นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า การจัดประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของภาคเหนือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน อีกทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในภาคเหนือ ทั้งในเรื่องการตรวจรับรองมาตรฐานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์และตลาดประชารัฐ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จึงทำให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายในการประสานการทำงานที่มีเป้าหมายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญต่อการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะเกษตรกรที่นอกจากจะช่วยในเรื่องการลดต้นทุนแล้วยังมีผลดีต่อสุขภาพของตนเองด้วย เพราะไม่ต้องใช้สารเคมีในการผลิต นอกจากนี้ หลายภาคส่วนยังมีการเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบตลาด โดยมีโมเดิลเทรดหลายแห่งให้ความสำคัญและยอมรับผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่ใช้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ให้เข้าไปวางจำหน่าย ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น และยังสามารถต่อยอดสู่ตลาดประชารัฐสามัคคีได้อีกด้วย คาดว่าการพัฒนาเกษตรอินทรีย์จะเป็นยุทธศาสตร์ที่จะนำภาคการเกษตรให้มีความก้าวหน้าต่อไป
ด้าน นายธนิต เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบายเกษตรอินทรีย์ของภาคเหนือ และรับฟังข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรคการดำเนินภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560 – 2564 โดยจัดการประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ พร้อมทั้งยังจัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือด้วย
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเกษตรอินทรีย์ และตลาดประชารัฐ นับเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแก่ทุกภาคส่วนในการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายประสานการทำงานที่มีเป้าหมายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคัดเลือกเกษตรกรเพื่อเชื่อมโยงตลาดการค้า ในการเข้าร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการความร่วมมือดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ รวม 5 ฉบับ ขับเคลื่อนทำงานระหว่างภาครัฐ ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ และงานวิจัย กลุ่มเกษตรกร ได้แก่ ผู้ผลิตข้าว พืชผัก พืชสมุนไพร ที่ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และวิทยาลัยนเรศวร ในการสนับสนุนการบริหารจัดการกลุ่ม การถ่ายทอดความรู้ และการประเมินผล และภาคเอกชน ได้แก่ มูลนิธิพัฒนาศักยภาพ (โดยสถาบันชุมชนเกษตรยั่งยืน) บริษัท แมคนีน่าฟาร์มจำกัด คู่ค้าข้าวจังหวัดอุทัยธานี บริษัทเปรมสุขฟาร์ม ในการสนับสนุนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ร่วมวางแผนการผลิตการรับซื้อสินค้า นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีการคัดเลือกเกษตรกรและสินค้าที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดมาร่วมจัดนิทรรศการเป็นจำนวนกว่า 40 บูธ โดยจังหวัดเชียงใหม่มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์และผ่านการรับรองมาตรฐาน จำนวน 727 ราย พื้นที่ 2,946.20 ไร่ แบ่งเป็น 4 ชนิดสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ ข้าว มีเกษตรกร 139 ราย พื้นที่ 1,130.25 ไร่ พืชและไม้ผล มีเกษตรกร 586 ราย พื้นที่ 1,811.95 ไร่ ปศุสัตว์ 1 ราย และประมง 1 ราย
” ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการจัดประชุมและลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้ทุกภาคส่วนมั่นใจในว่ารัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในภาคเหนือให้บรรลุเป้าหมายอย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป” นายธนิต กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น