กิน-เที่ยวแชมป์ เงินสะพัด ช่วงปีใหม่


คาดช่วงปีถึงปีใหม่ 61 คนไทยใช้จ่ายกว่า 2.9 หมื่นล้าน ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มนำโด่งเป็นแชมป์ รองลงมาคือเม็ดเงินที่ใช้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และซื้อของฝาก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 จะอยู่ที่ 29,600 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่ามาตรการช็อปช่วยชาติในปีนี้จะออกมาเร็วกว่าปีก่อน ๆ แต่ผู้ประกอบการก็มีการกระตุ้นการขายต่อเนื่องไปตลอดทั้งช่วงเทศกาล
อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของผู้บริโภคในภาพรวมยังถูกกดดันด้วยหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงความกังวลกับกำลังซื้อในอนาคต ทำให้การวางแผนใช้จ่ายของผู้บริโภคยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้มีฐานรายได้ต่อเดือนไม่สูงมาก
เม็ดเงินใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 แยกเป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 9,000 ล้านบาท รองลงมา คือ ท่องเที่ยวในประเทศ (เฉพาะค่าที่พักและค่าเดินทาง) 8,200 ล้านบาท ซื้อของขวัญ/ของฝาก (ทั้งมอบให้ตัวเอง และผู้อื่น) 8,100 ล้านบาท การให้เงินพ่อแม่/พี่น้องเป็นของขวัญปีใหม่ 2,000 ล้านบาท และทำบุญ/ไหว้พระ 1,600 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง) 700 ล้านบาท ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ได้แก่ ค่าซื้อของขวัญ/ของฝาก และท่องเที่ยวในประเทศ (เฉพาะค่าที่พัก และค่าเดินทาง) ในขณะที่งบประมาณใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 5,400 บาท
เทศกาลปีใหม่ 2561 คาดคนกรุงฯ ยังเดินและทำกิจกรรมในห้างสรรพสินค้า… ไม่ว่าจะเป็นการนัดเลี้ยงสังสรรค์/กินข้าวกับครอบครัว และเพื่อนฝูง ชอปปิ้งเลือกซื้อสินค้าของขวัญ/ของฝาก ดูหนัง/ฟังเพลง ฯลฯ ทั้งนี้ จุดขายสำคัญของห้างสรรพสินค้าที่ดึงดูดใจให้คนเข้ามาใช้บริการก็คือ การสร้างบรรยากาศ และประสบการณ์ในการชอปปิ้งใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภคเข้ามาสัมผัส จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการสำรวจจะพบว่า คนกรุงฯ กว่าร้อยละ 37 ที่สนใจเข้ามาเดินเลือกซื้อสินค้าผ่านหน้าร้าน เพราะต้องการสัมผัสสินค้าจริง ทดลองชิม/ใช้ และสามารถซื้อได้ทันทีหากถูกใจ รองลงมา คือ เข้ามาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ (ร้อยละ 19) และร่วมกิจกรรม หรืออีเวนต์ที่จัดขึ้น (ร้อยละ 19)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องตระหนัก คือ ทำอย่างไรถึงจะกระตุ้นให้ลูกค้าที่เข้ามาทำกิจกรรมดังกล่าว เกิดการใช้จ่ายเลือกซื้อสินค้า หรือบริการภายในห้างสรรพสินค้าตามไปด้วย เมื่อวิเคราะห์ถึงโอกาสทางการตลาดพบว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และกลยุทธ์ทางการตลาด ที่คาดว่าน่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ คือ
กลุ่มลูกค้าที่ควรเข้าไปทำตลาด ได้แก่ 1) กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการต่าง ๆ หรือเดินเล่นภายในร้าน แต่ยังไม่ได้วางแผนซื้อสินค้ามาก่อน และ 2) กลุ่มที่มีการวางแผนจะเข้ามาใช้บริการเพื่อนัดพบปะสังสรรค์ เพราะเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบประเด็นที่น่าสนใจก็คือ กว่า 64% ของคนกรุงฯ เคยซื้อสินค้าและบริการที่ออกมาในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยไม่ตั้งใจ หรือไม่ได้วางแผนมาก่อน โดยเฉพาะกับสินค้าที่อยู่ในรูปแบบ Limited Edition (29%) รูปลักษณ์แปลกใหม่ (27%) และอยากทดลองสินค้าใหม่ (19%)
กลยุทธ์ที่ชูให้เห็นถึงความคุ้มค่าคุ้มราคา สะท้อนจากผลสำรวจที่ระบุว่า กว่า 23% ของกลุ่มตัวอย่างตัดสินใจซื้อสินค้าจากกลยุทธ์ลดแลกแจกแถม (เช่น ลดราคา กระตุ้นให้ซื้อมากขึ้นเพื่อรับของสมนาคุณ) รองลงมา คือ การทำโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิต (17%) และการจัดอีเวนต์ร่วมสนุก และลุ้นของรางวัล (17%) ตามลำดับ
นอกจากนี้ รูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนกรุงฯ ได้อย่างตรงจุด ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีส่วนต่อการตัดสินใจเลือกแหล่งชอปปิ้งได้เร็วขึ้น เช่น เพิ่มบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการมาชอปปิ้ง (พื้นที่กิจกรรม/มุมพักผ่อน Free-WiFi ขยายเวลาเปิดให้บริการในบางส่วน) การเชื่อมโยงข้อมูลของทางร้านค้ากับแอปพลิเคชันต่าง ๆ (แจ้งสิทธิประโยชน์/โปรโมชั่น, เช็กสถานะของที่จอดรถ, แจ้งรายชื่อร้านค้าที่มีให้บริการ รวมถึงอีเวนต์ที่จัดขึ้น)
การทำให้ลูกค้าเห็นถึงความคุ้มค่า หรือเป็นคนพิเศษ เมื่อเลือกใช้บริการกับทางร้านค้า เช่น เช็กอินสถานที่แล้วได้รับส่วนลดในการซื้อสินค้าภายในร้านค้า หรือเมื่อใช้บริการร้านค้าหนึ่งแล้ว ได้รับสิทธิประโยชน์จากอีกหนึ่งร้านค้าในรูปแบบ Co-Partner เพราะจากการสำรวจพบว่า สิ่งที่คนกรุงฯ ให้ความสำคัญมากที่สุด หากต้องเลือกสถานที่ชอปปิ้ง คือ ความหลากหลายของร้านค้าที่มีให้บริการ (ร้อยละ 24) รองลงมา คือ มีที่จอดรถที่เพียงพอ หรือรอจอดไม่นาน (ร้อยละ 19) และมีบริการก่อนและหลังการขายที่ดี (ร้อยละ 12) ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปว่า เทศกาลปีใหม่ถือเป็นไฮไลต์การทำตลาดที่สำคัญงานหนึ่งของปี ที่ทุกธุรกิจหวังจะใช้โอกาสนี้เพิ่มยอดขาย แต่ในยุคที่ร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้านอย่าง ห้างสรรพสินค้า เริ่มประสบปัญหาในเรื่องของยอดขาย และจำนวนลูกค้าที่ลดลง จากพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการใช้จ่าย และมีทางเลือกหลากหลายในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น การสร้างประสบการณ์ที่ดีในการชอปปิ้งให้เกิดกับผู้บริโภค เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่คาดว่าจะช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ รักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและบริการได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเจาะกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่เท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึงเทศกาลสำคัญอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคจะออกมาจับจ่ายใช้สอยมากกว่าปกติ เช่น ตรุษจีน, สงกรานต์, เปิดเทอม หรือกินเจ

ร่วมแสดงความคิดเห็น