พาณิชย์จับมือเกษตรลงพื้นที่เชียงใหม่ เตรียมความพร้อมเกษตรกรโคนม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้บูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือกรมปศุสัตว์และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ประชุมหารือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเขตภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ รับมือการเปิดเสรี FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับกรม ปศุสัตว์และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ประชุมหารือกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเขตภาคเหนือ เมื่อวันที่ 21-22 ธันวาคม 2560 ณ จังหวัดเชียงใหม่ เรื่องการเปิดเสรี FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ที่ไทยต้องลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมเป็นศูนย์ในปี 2564 และปี 2568 โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้เยี่ยมฟาร์มและประชุมหารือกับเกษตรกร สหกรณ์โคนม และผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลเรื่อง FTA รับฟังความเห็นและความต้องการของเกษตรกร

ซึ่งทำให้เห็นว่าเกษตรกรผู้ผลิตโคนมในภาคเหนือของไทยมีศักยภาพและน่าจะสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้โคนมที่เลี้ยงผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ดี เกษตรกรต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม จึงเห็นว่าหากกรมปศุสัตว์เข้ามาช่วยพัฒนาเกษตรกรไทยในเรื่องการลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ พัฒนาสายพันธุ์และโภชนาการอาหารสัตว์ การบริหารจัดการฟาร์ม การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ช่วยในเรื่องการสร้างแบรนด์ และขยายตลาดสินค้านมไทยไปต่างประเทศ เช่น เมียนมา จีน กัมพูชา ซึ่งมีความต้องการนมคุณภาพน่าจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของสินค้านมไทยให้แข่งขันในยุคการค้าเสรีได้

นางอรมนฯ เสริมว่า ความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ถือเป็นความตกลง FTA ลำดับต้นๆ ของไทยที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2548 โดยปัจจุบันออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ได้ลดภาษีสินค้าทุกรายการให้กับไทยเหลือศูนย์แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ส่วนไทยได้ลดภาษีสินค้าเกือบทั้งหมดให้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เหลือศูนย์แล้วเช่นกัน แต่ยังคงเหลือสินค้าเกษตรบางรายการ ซึ่งรวมถึงสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมที่ไทยยังใช้มาตรการโควตาภาษีและมาตรการปกป้องพิเศษ เพื่อให้ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมโคนมของไทยมีเวลาในการปรับตัว โดยปัจจุบันกลุ่มผลิตภัณฑ์นมไทยที่เปิดตลาดลดภาษีเหลือศูนย์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 คือ นมและครีมข้นไม่หวาน และบัตเตอร์มิลล์ แต่ยังคงเหลือสินค้าที่ไทยจะต้องทยอยเปิดตลาดให้กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้แก่ สินค้านมผงที่มีไขมันเกิน 1.5% (ไม่ใช้เลี้ยงทารก) ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม หางนม (เวย์) เนย ไขมันเนย (AMF) และกลุ่มสินค้าเนยแข็ง จะต้องไม่มีการจำกัดโควตาและลดภาษีเป็นศูนย์ ในปี 2564 และสินค้านมและครีม เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย ที่จะต้องไม่มีโควตาและลดภาษีเป็นศูนย์ในปี 2568

หลังจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะร่วมกับกรมปศุสัตว์และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จัดประชุมกับเกษตรกรผู้ผลิตโคนมในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้ข้อมูลเรื่อง FTA และสอบถามความต้องการของเกษตรกร เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการค้าเสรีต่อไป โดยจะจัดที่ สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และกาญจนบุรี ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 จากนั้นมีแผนจะคัดเลือกเกษตรกรและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ อาทิ การแปรรูปผลิตภัณฑ์นม (เช่น นมยูเอชที โยเกิร์ต ไอศกรีม) การสร้างแบรนด์ การพัฒนาหีบห่อบรรจุภัณฑ์ และนำออกสู่ตลาดต่างประเทศ
รวมทั้งเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะจัดในปี 2561 เช่น งาน Top Thai Brands ที่กัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา และจีน เป็นต้น โดยโครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมเกษตรกรโคนมไทยรับมือการค้าเสรีของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น นมปรุงแต่ง UHT โยเกิร์ตและนมข้นหวาน โดยในปี 2559 มีมูลค่าส่งออก 1,263.50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยร้อยละ 50 ของการส่งออกไปตลาดสำคัญ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และ เมียนมา (CLMV) ที่เหลือไปฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และจีน ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ได้เห็นโอกาสที่จะขยายการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยในต่างประเทศ ซึ่งภายใต้ FTA อาเซียน-จีน จีนได้ลดภาษีสินค้านมและผลิตภัณฑ์ให้ไทยเป็นศูนย์แล้ว และภายใต้ FTAอาเซียน กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ก็จะต้องลดภาษีนมและผลิตภัณฑ์นมให้ไทยเป็นศูนย์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

จากสถิติการค้าที่ผ่านมาพบว่า ไทยได้ประโยชน์จากการจัดทำความตกลง FTA กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 การค้าไทยกับออสเตรเลียมีมูลค่า 13,727 ล้านเหรียญสหรัฐ และการค้าไทยกับนิวซีแลนด์มีมูลค่า 2,022 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าและ 3.6 เท่าตัวจากปี 2547 ตามลำดับ และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับทั้งสองประเทศมาโดยตลอด โดยไทยส่งออกสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยางไปยังออสเตรเลีย และส่งออกสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังนิวซีแลนด์ได้เพิ่มสูงขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น