วัดกานโถม วัดเก่าแก่ของเวียงกุมกาม

พระเจ้ามังรายมหาราช ได้ให้ช่างไม้คนโปรดของพระองค์ชื่อ “นายช่างกานโถม” ซึ่งขณะนั้นพระองค์ได้สถาปนาให้เป็น “หมื่อเจตรา” ครองเมืองเชียงแสนให้สร้างพระวิหารขึ้นมา โดยปรุงตัวไม้ส่วนต่างๆของวิหารจนสำเร็จรูปขึ้นที่เมืองเชียงแสน จากนั้นก็ขนย้ายลงมาสร้างพระวิหารที่เวียงกุมกาม โดยพระเจ้ามังรายมหาราช ทรงโปรดให้ตั้งชื่อพระวิหารตามชื่อของช่างไม้คนโปรดว่า “วิหารกานโถม” ซึ่งปัจจุบัน เหลือเพียงซากของวิหารที่หันหน้าลงสู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำปิงสายเก่า

ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดการโถมหรือวัดช้างค้ำไว้ดังนี้ ในสมัยพระเจ้ามังรายมหาราชยังครองเวียงกุมกามอยู่ คือประมาณปี พ.ศ.1831 ได้มีพระเถระชาวลังกาจำนวน 5 รูป ซึ่งนำโดยพระมหากัสสปะ ได้จารึกมาจากกรุงสุโขทัยขึ้นไปจนถึงเวียงกุมกามบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ต้นมะเดื่อใหญ่

เมื่อพระเจ้ามังรายมหาราชทรงทราบ พระองค์ก็ได้เสด็จไปนมัสการพระเถระ แล้วทรงสนทนาธรรมกับพระมหาเถระ พระมหาเถระเจ้าได้ถวายพระธรรมเทศนาเรื่อง “ปัฏฐังคุลีชาดก” คือชาดกที่เกี่ยวกับอานิสงฆ์ของการต่อพระหัตถ์พระพุทธรูป เมื่อพระเจ้ามังรายได้สดับฟังก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก จึงโปรดให้สร้างพระอารามถวายแก่พระเถระ ขณะเดียวกันพระองค์ทรงหล่อพระพุทธรูปสำริดขึ้น 5 องค์ เป็นพระนั่ง 3 องค์และพระยืน 2 องค์ โดยมีองค์หนึ่งสูงใหญ่เท่าพระองค์จริงของพระเจ้ามังรายมหาราช สำหรับพระพุทธรูปองค์นั่งนั้นเท่าที่สืบค้นทราบได้ในปัจจุบันมีเพียง 1 องค์เท่านั้นคือ พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดช้างค้ำ ส่วนพระพุทธรูปยืน 1 องค์นั้น ปัจจุบันยังประดิษฐานอยู่ในมณฑปวัดพระเจ้ามังราย (วัดกาละคอด หรือ วัดคานคอด)

หลังจากที่พระเจ้ามังรายมหาราชได้สร้างพระอารามและหล่อพระพุทธรูปทองสำริดแล้ว ก็พอดีเวลานั้นพระองค์ท่านกำลังทรงเตรียมการจะกรีฑาทัพเสด็จไปตีเมืองรามัญ (เมืองมอญ หรือ เมืองหงสาวดี) แต่ก่อนที่พระองค์จะยกทัพไปนั้น พระองค์ทรงตั้งสัตยาธิษฐานเอาไว้ว่า “หากพระองค์ยกทัพไปตีประเทศรามัญ ในครั้งนี้และได้รับชัยชนะต่อพญารามัญแล้ว กลับมาจะสร้างพระวิหารให้เป็นที่สถิตแก่พระพุทธรูปสำริดทั้ง 5 องค์นั้น” (สันนิษฐานว่าทรงกระทำพิธีบวงสรวงที่ หอพระเจ้ามังราย) พระองค์ทรงยกกองทัพไปทางแม่สะเรียง ข้ามแม่น้ำคงไปถึงแม่น้ำอาสา ตั้งทัพอยู่ที่นั่น ครั้งนั้นพระเจ้าหงสาวดีชื่อ “สุตตโสม” รู้ข่าวว่าพระเจ้ามังรายมหาราชมาตั้งทัพอยู่ในแค้วนแดนตน ประกอบกับได้ยินอานุภาพศักดาของกองทัพอันกล้าหาญของพระองค์ พระเจ้าสุตตโสมก็มีความเกรงกลัวไม่คิดจะต่อสู้แต่อย่างใด จึงได้แต่งเสนาอำมาตย์อันเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการออกไปถวายพระเจ้ามังรายมหาราช ขอเจริญพระราชไมตรีด้วยพร้อมกันนั้นได้ทรงถวายพระราชธิดาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “พระนางปายโค” หรือ “ตะละแม่ศรี” ให้เป็นบาทบริจาริกาแด่พระเจ้ามังราย พระเจ้ามังรายมหาราชทรงน้อมรับด้วยไมตรีอันดียิ่ง พระเจ้าสุตตโสมจึงได้จัดส่งพระราชธิดาพร้อมด้วยข้าทาสชาย หญิง ช้างม้าอย่างละ 500 ถวายแด่พระเจ้ามังรายมหาราช พระองค์ทรงรับแล้วเสด็จยกกองทัพกลับเวียงกุมกาม และได้ทรงอภิเษกพระนางปายโคไว้ในที่พระราชเทวี

เมื่อพระเจ้ามังรายมหาราชเสด็จกลับเวียงกุมกามแล้ว พระองค์ได้ทรงโปรดให้ช่างไม้คนโปรดของพระองค์ชื่อ “นายช่างกานโถม” ซึ่งขณะนั้นพระองค์ได้สถาปนาให้เป็น “หมื่อเจตรา” ออกไปครองเมืองรอย (ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเชียงแสนในเวลาต่อมา) คิดอ่านสร้างพระวิหารขึ้นมา โดยปรุงตัวไม้ส่วนต่าง ๆ ของวิหารจนสำเร็จรูปขึ้นที่เมืองเชียงแสน จากนั้นก็ขนย้ายลงมาสร้างพระวิหารที่เวียงกุมกาม โดยพระเจ้ามังรายมหาราช ทรงโปรดให้ตั้งชื่อพระวิหารตามชื่อของช่างไม้คนโปรดว่า “วิหารกานโถม” ซึ่งปัจจุบัน เหลือเพียงซากของวิหารที่หันหน้าลงสู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำปิงสายเก่า

 

ปี พ.ศ.1833 พระเจ้ามังรายมหาราชทรงดำริที่จะยกกองทัพไปตีเมืองพุกาม (เมืองอังวะของพม่า) พระองค์จึงได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานขึ้นว่า “หากพระองค์ทรงมีชัยชนะต่อพระเจ้าอังวะกลับมาแล้วไซร์ พระองค์ก็จักได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นที่วัดกานโถม” หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงยกกองทัพไปยังเมืองพุกาม ประเทศพม่า เมื่อพระเจ้าอังวะทราบข่าวศึกก็มีความวิตกและหวั่นไหว จึงได้จัดแต่งตั้งราชทูตอันเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาธิการมาถวายพระเจ้ามังราย เพื่อขอเจริญพระราชไมตรีด้วย พระเจ้ามังรายก็ทรงรับไว้ด้วยดีและทรงขอช่างฝีมือต่าง ๆ จากพุกาม ได้แก่ ช่างทองคำ ช่างเงิน ช่างหล่อ ช่างเหล็กและช่างอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อพระเจ้ามังรายยกกองทัพกลับมาพระองค์ก็ทรงแยกย้ายเอาช่างทองคำไปไว้ยังเมืองเชียงตุง เอาช่างหล่อไปไว้ยังเมืองเชียงแสน เอาช่างเหล็กและอื่น ๆ ไว้ในเวียงกุมกาม ตั้งแต่นั้นมาวิชาการต่าง ๆ ก็เจริญขึ้นในล้านนา

 

เมื่อพระองค์กลับมาถึงเวียงกุมกามแล้ว จึงได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นที่วัดกานโถมตามที่ได้ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้เมื่อปี พ.ศ.1834 พระเจดีย์ที่ทรงสร้างขึ้นไว้ที่วัดกานโถมนั้น ฐานกว้าง 6 วาสูง 9 วา ทำซุ้งคูหาทั้งสี่ด้าน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 2 ชั้น ชั้นล่างไว้พระพุทธรูปนั่ง 4 องค์ ชั้นบนไว้พระพุทธรูปยืน 1 องค์ ชาวบ้านเรียกว่า “เจดีย์วัดกานโถม” ปัจจุบันวัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดช้างค้ำ”

วัดช้างค้ำ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดนั่งที่หล่อโดยพระเจ้ามังราย และยังเป็นที่สถิตของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้อัญเชิญเมล็ดมาจากเมืองลังกาแต่ครั้งโบราณกาลอีกด้วย

นอกจากพระเจดีย์และต้นพระศรีมหาโพธิ์อันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีพระวิหารกานโถมและหอพระเจ้ามังราย ซึ่งเป็นวิหารและหอขุดแต่งบูรณะโดยกรมศิลปากร ดังนั้นจึงถือว่าเป็นโบราณวัตถุที่ควรค่าแก่การไปเยี่ยมชม.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น