ปลื้มโครงการ 9101 กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า

เปิดผลวิเคราะห์การดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 54,040 ล้านบาท ผ่านการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ครัวเรือน ชี้หากรัฐฯมีนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอีก ควรเน้นการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนและเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและชุมชน ด้วยการน้อมนำหลักการ ทฤษฎีและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้มาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชน โดยกำหนดเป้าหมายพื้นที่ 9,101 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนใน ศพก. หลัก 882 แห่ง และเครือข่าย 8,219 แห่งและคัดเลือกเกษตรกรชุมชนละ 500 ราย รวม 4,550,500 ราย งบประมาณรวมทั้งสิ้น 22,895 ล้านบาท

นายวิณะโรจน์ กล่าวต่อว่า ในการนี้ สศก. ได้วิเคราะห์ผลลัพธ์ของโครงการในการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า โดยพิจารณาจากค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อวัสดุ อุปกรณ์ วัตถุดิบ พันธุ์พืช/สัตว์ และค่าจ้างแรงงานของโครงการ พบว่า โครงการมีการใช้จ่ายงบประมาณไปทั้งสิ้น 19,366.49 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าวัสดุ อุปกรณ์ฯ จำนวน9,659.54 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นการจัดซื้อวัสดุสำคัญสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการทำการผลิต เช่น มูลสัตว์ เศษพืช เศษผัก หญ้าแฝก ไม้ และผลไม้ โดยหาซื้อจากภายในชุมชนเองหรือชุมชนใกล้เคียง ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะส่งต่อเศรษฐกิจชุมชนสองทางด้วยกัน คือรายได้จากการจำหน่ายวัสดุในท้องถิ่นจะถูกนำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันจากร้านค้าในชุมชน และรายได้จากการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรภายในชุมชนและพื้นที่ใกล้ จากการนำวัสดุ อุปกรณ์ วัตถุดิบ พันธุ์พืช/สัตว์ ไปใช้ทำการผลิต ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนคิดเป็นมูลค่า21,451 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าจ้างแรงงาน9,706.95 ล้านบาท ซึ่งจ้างเกษตรกรในชุมชนมาทำงานในโครงการได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจชุมชนผ่านการนำรายได้จากค่าจ้างมาใช้จ่ายบริโภคสินค้าในชีวิตประจำวันจากร้านค้าภายในชุมชนและใกล้เคียง เช่น ข้าวสาร เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม ผลไม้ ยานพาหนะและเชื้อเพลิงก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนคิดเป็นมูลค่าสูงถึง32,589 ล้านบาท สรุปโครงการ 9101 ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 54,040 ล้านบาท

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ ภายในโครงการ 9101 ยังมีกิจกรรมฟาร์มชุมชนซึ่งเป็นการจัดทำแปลงและโรงเรือนเพาะปลูกรอบ ๆ แหล่งน้ำในโครงการทั้งการปลูกพืชและไม้ผล เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ข้าวโพด พริก มะเขือ น้อยหน่า ฝรั่ง กล้วย การเลี้ยง ปศุสัตว์ เช่น ไก่ไข่และเป็ดไข่ การประมง เช่น การเลี้ยงปลาดุก ปลานิลและกบ การจัดสร้างโรงเรือนสำหรับเพาะเห็ดนางฟ้าและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การแปรรูปสินค้าเกษตรและการจัดให้มีร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของฟาร์ม ซึ่งฟาร์มชุมชนนี้ได้ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีและการร่วมไม้ร่วมมือกันระหว่างเกษตรกร ผู้นำชุมชน และหน่วยงานภาคีที่รับผิดชอบ ผ่านการการรวมกลุ่มและร่วมกันจัดทำแผนการบริหารจัดการฟาร์มทั้งการผลิต การแปรรูป และการตลาดซึ่งฟาร์มชุมชนยังก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนแก่เกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เกษตรกรในโครงการยังสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในพื้นที่ของตนเองได้อีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการ 9101 เป็นกิจกรรมที่ดีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรตรงตามวัตถุประสงค์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ โครงการ 9101 ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนสูงถึง 2.8 เท่าของงบประมาณโครงการ ดังนั้น หากในอนาคตรัฐบาลจะมีนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอีกควรเน้นการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและจะต้องเป็นรูปแบบที่มีกิจกรรมการผลิตที่ต่อเนื่อง เกษตรกรสามารถพัฒนาต่อยอดได้เองช่วยลดค่าครองชีพให้กับเกษตรกรและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างเพียงพอจนสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เช่น กิจกรรมฟาร์มชุมชน เป็นต้น นายวิณะโรจน์ กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น