เชียงใหม่นิวส์พาเที่ยว “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์”

ความเป็นมาของสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

องค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ พ.ศ.2535   โดยมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอน 40 ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2535 

โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็น ผู้กำกับดูแลและวางนโยบายร่วมกับคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ให้องค์การมีความก้าวหน้าในระดับนานาชาติให้ประเทศไทยมีสวนพฤกษศาสตร์ที่ได้ระดับมาตรฐานสากล และเป็นสถานที่เชิดชูความงามและคุณค่าพรรณไม้ไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก ในปี พ.ศ. 2537 ทางองค์การฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระราชทาน พระราชานุญาต จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ใช้ชื่อสวนพฤกษศาสตร์ในภาคเหนือขององค์การฯ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ว่า  “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” (Queen Sirikit Botanic Garden)

ในปี พ.ศ.2545 รัฐบาลมีนโยบายในการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยนำหน่วยงานราชการที่มีภารกิจคล้ายคลึงกันไว้ในหน่วยงานเดียว องค์การสวนพฤกษศาสตร์จึงได้โอนย้ายจากสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนที่ 102 ก ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2545

ที่ตั้งขององค์การสวนพฤกษศาสตร์

ในการเริ่มจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ทางกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่หลายแห่งในทุกภาคของประเทศ เพื่อสรรหาพื้นที่เหมาะสมในการจัดตั้ง และพบว่าสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการนี้คือ พื้นที่บริเวณชายเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ -ปุย ท้องที่ตำบลโป่งแยงและแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีห้วยนาหวาย  ห้วยพันสี่ และห้วยแม่สาน้อย เป็นแหล่งน้ำใหญ่ไหลรวมลงสู่ห้วยแม่สา ซึ่งเป็นลำห้วยสายใหญ่ ที่มีน้ำไหลตลอดปี

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบและที่สูงสลับเป็นชั้นต่างๆ ขึ้นไป จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,200 เมตร มีภูมิอากาศดี การคมนาคมสะดวกไม่ไกลจากย่านชุมชน เหมาะแก่การที่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และนักท่องเที่ยวจะเดินทางไปทัศนะศึกษา มีเนื้อที่รวมประมาณ 6,500 ไร่ พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้ได้เริ่มจัดตั้งโครงการสวนพฤกษศาสตร์ภาคเหนือ (แม่สา) อยู่ในความดูแลของกองบำรุง และอีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ปลูกป่าของโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่สา กองต้นน้ำ กรมป่าไม้

การที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ จัดตั้งอยู่นอกเมืองหลวง ถือเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลประการหนึ่ง ในการขยายส่วนราชการและกระจายความเจริญออกไปสู่ท้องถิ่น

ประโยชน์สำคัญที่องค์การสวนพฤกษศาสตร์ตั้งอยู่ในสถานที่ดังกล่าวก็คือ มีพื้นที่กว้างขวาง และการมีทรัพยากรพืชที่สมบูรณ์ในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ ในปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์จึงเปรียบเสมือนเป็นสถานศึกษาภาคสนามของมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นสถานที่ผลิตนักพฤกษศาสตร์ระดับสูงในสาขาขาดแคลนให้กับประเทศอีกด้วย

อนึ่งในขณะที่สวนพฤกษศาสตร์ ได้เริ่มการปรับปรุงพื้นที่ดำเนินการระยะแรก ก็ได้มีผู้อำนวยการและผู้บริหารสวนพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อของโลก เช่น อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, เดนมาร์ค, สวีเดน, เยอรมัน และออสเตรเลีย เดินทางมาเยือนและต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นสถานที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการจัดตั้งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ระดับโลก และท่านเหล่านี้ก็ได้แจ้งเจตจำนงที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินการของสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้อย่างเต็มที่

วัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน

วัตถุประสงค์หลักขององค์การ ตามมาตรา 6 พ.ศ.2535 ในราชกิจจานุเบกษา ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลักขององค์การฯ ไว้ดังต่อไปนี้

  1. รวบรวมพรรณไม้ต่างๆ เพื่อจัดปลูกให้เป็นหมวดหมู่
  2. ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ข้อมูล เอกสาร สิ่งพิมพ์  เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการพฤกษศาสตร์กับองค์การอื่นทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร
  3. ขยายพันธุ์ และอนุรักษ์พรรณไม้ของประเทศไทย
  4. ศึกษา ค้นคว้า ฝึกอบรม และวิจัยทางด้านพฤกษศาสตร์และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากพืช รวมทั้งส่งเสริมและให้ความร่วมมือในกิจการดังกล่าวของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน
  5. เป็นสถานศึกษาพรรณไม้ในสภาพธรรมชาติ ตลอดจนเป็นสถานที่สำหรับการ สันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ และให้ความรู้โดยเฉพาะทางด้านพฤกษศาสตร์
  6. ปลูกฝังและกล่อมเกลาจิตใจ รวมทั้งให้ความรู้แก่เยาวชน ให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ
  7. นำเข้ามาในและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งของที่เกี่ยวกับกิจการ พฤกษศาสตร์
  8. ประกอบกิจการพฤกษศาสตร์ รวมทั้งกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องหรือใกล้เคียงกับกิจการพฤกษศาสตร์

ความสำคัญขององค์การสวนพฤกษศาสตร์

องค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยมีสวนพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบแท้จริง เป็นศูนย์รวมพรรณไม้ไทยที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านพืช ทำหน้าที่เป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า วิจัย อนุรักษ์ ผลิตบุคลากรและให้บริการด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะเป็นสถานที่เผยแพร่ความสวยงาม และคุณค่าของพรรณพฤกษชาติไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วโลก

เป็นศูนย์รวบรวมพรรณไม้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ โดยเฉพาะพรรณไม้ไทยรวมถึงพรรณไม้ต่างประเทศ มีการตรวจสอบชื่อที่ถูกต้อง นำมาปลูกเป็นหมวดหมู่ มีการติดป้ายชื่อบอกถึงที่มาและประโยชน์ต่างๆ อย่างชัดเจน

เป็นศูนย์อนุรักษ์และขยายพรรณพื โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น ไม้หายาก กล้วยไม้ และพืชสมุนไพร ตลอดจนไม้มีค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ฯลฯ โดยดำเนินการขยายพันธุ์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เพื่อให้คงอยู่และเพื่อศึกษาวิจัยในอนาคต

เป็นสถานบันทางการศึกษาและวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ ดำเนินการผลิตนักพฤกษศาสตร์ระดับสูงสาขาที่ขาดแคลนให้กับประเทศตลอดจนการพัฒนาบุคลากร โดยดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหิดล นเรศวร รามคำแหง ขอนแก่น สงขลานครินทร์ และสถาบันราชภัฏ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม่โจ้ พายัพ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการวิจัยร่วมกับสถาบันในประเทศ อาทิ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

เป็นศูนย์รวบรวมตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ที่เก็บจากทั่วประเทศโดยเฉพาะพรรณไม้ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการตรวจสอบรายชื่อพันธุ์ไม้ให้ชื่อถูกต้อง และบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์เป็นข้อมูลของประเทศ

เป็นศูนย์ข้อมูลด้านพืช ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยศูนย์ห้องสมุดทางพฤกษศาสตร์และศูนย์รวมข้อมูลพืชระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงเอกสารด้านพฤกษศาสตร์และพันธุกรรมพืชอันมีขอบเขตครอบคลุมถึงชนิดพืชต่างๆ โดยเฉพาะที่มีอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เป็นสถานที่ศึกษาและพักผ่อนหย่อนใจในธรรมชาติ ทางด้านความหลากหลายของพรรณพืชและภูมิทัศน์ตลอดจนสันทนาการ ให้ความเพลิดเพลินและความรู้แก่ผู้เยี่ยมชมโดยเฉพาะทางด้านพืช

เป็นแหล่งปลูกฝังเยาวชน โน้มน้าว กล่อมเกลาจิตใจ ให้ความรู้ความหวงแหนและตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติด้านพืช อันจะเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศ

พื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ได้ถูกจัดสรรเป็นส่วนต่างๆ สำหรับการศึกษาวิจัย อนุรักษ์และนันทนาการพักผ่อนหย่อนใจ อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสง่าสรรพศรี พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ หอพรรณไม้ ห้องสมุดพฤกษศาสตร์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติได้แก่ เส้นทางน้ำตกแม่สาน้อย-สวนหิน – เรือนรวมพรรณกล้วยไม้ไทย  เส้นทางสวนรุกขชาติ  เส้นทางวัลยชาติ เส้นทางพรรณไม้ประจำจังหวัด-พืชสมุนไพรไทย เศวตพิมาน อาคารศูนย์สารนิเทศต้อนรับและบริการแก่นักท่องเที่ยว ฯลฯ  สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้จึงเป็นแหล่งรวมความสมบูรณ์แห่งพรรณไม้ระดับสากลสถานที่น่าภูมิใจที่คนไทยทุกคนต้องมาเยือน สถานที่ตั้งของสวนอยู่ เพียง 27 กิโลเมตรจากตัวเมือง  ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที โดยเส้นทางหลวงหมายเลข 107 และเลี้ยวเข้าสู่ถนนสายแม่ริม – สะเมิง สวนพฤกษศาสตร์ ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 12 ด้านซ้ายมือ เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น.

ร่วมแสดงความคิดเห็น