เชียงใหม่นิวส์พาเที่ยว “ม่อนเงาะ”

ม่อนเงาะ อยู่อำเภอแม่แตงใกล้ๆระยะทางไม่ไกลมากนัก มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายน่าสนใจที่เดียวเลยล่ะ แล้วจะไปกันอย่างไร? สิ้นสุดคำถามเราออกเดินทางไปค้าหาคำตอบกันทันที่ โดยมีคุณศริพัฒน์ ธันทะยา(หนุ่ม) กับรถ W4 ที่พร้อมลุยดอยสูงจุดหมายปลายทางในทริปนี้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ

หนึ่งชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงใหม่ก็มาถึง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ  มีคุณวิโรจน์ ชูคำ(หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ) ศูนย์แห่งนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2528 เมื่อครั้งที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เดินทางมาสำรวจพื้นที่บริเวณบ้านม่อนเงาะ ซึ่งมีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ ด้วยการทำไร่เลื่อนลอย แผนพัฒนาจึ่งได้กำหนดขึ้นพร้อมด้วยความร่วมมือจากหลายๆหน่วยงานจัดตั้ง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ

ด้วยพื้นที่เป็นหุบเขา ชุมชนชาวม้ง และคนเมือง ที่ดำรงวิถีชีวิตเกษตรกรรม ความเป็นธรรมชาติ จึ่งมีกิจกรรมกับการท่องเที่ยวอย่างหลากหลาย เที่ยวชมไร่ชาจีน การปลูกผักทอง เพาะเห็ด กล้วยไม้ กาแฟ สวนส้ม  ธรรมชาติชมทะเลหมอกที่ม่อนเงาะ ถ้ำลม บ่อน้ำทิพย์   วิถีชีวิตเผ่าม้ง ประเพณีกินวอตรงกับขึ้น 1 ค่ำของเดือนมกราคมของทุกปี อีกทั้งยังสามารถล่องแพบ้านสบก๋ายมีทั้งแพไม่ไผ่ และแพยาง  ยิ่งได้ฟังหัวหน้าพูดแล้วทำให้อยากไปเที่ยวเสียให้หมด เราไม่รอช้าไปตะลุยเที่ยวกันเลยดีกว่า

จากศูนย์ฯออกมาบ้านสามสบประมาณ 3 กิโลเมตร เราจะได้เห็นไร่ชาปลูกลดหลั่นเป็นขั้นบันไดไปตามเนินเขา ลุงเดช รังษี กำลังดูแลไร่ชาอย่างมีความสุขซึ่งปลูกมานานกว่า 20 ปี ที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลปให้ได้คุณภาพชาที่ดี เป็นชาจีนอู่หลงพันธุ์ก้านอ่อน  และชาเบอร์20  แล้วมาพักจิบน้ำชาร้อน บนบ้านพักที่ปลูกท่ามกลางไร่ชา สามารถเห็นวิวทิวทัศน์ขุนเขาไร่สุดสายตา ช่างมีความสุขเสียจริงๆ

กลับมาที่ศูนย์ฯพักเที่ยง เจ้าหน้าศูนย์ฯต้องรับหน้าที่เป็นแม่ครัว พ่อครัว โดยใช้ผลผลิตในท้องที่อย่างเห็ด ผักทอง สดใหม่ปรุงเมนูเด็ดให้เราได้ทาน ต้มยำเห็ด ไข่ตุ่น

บ่ายนี้ไปตะลุยกันต่อไปที่ ศูนย์หน่วยย่อยผาหมอน ไปเที่ยวชม “ผักทองเข้าแถว” ฟังดูแล้วแปลกดีไหมครับ? เราเดินทางไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ถนนลัดเลาะไปตามแนวเขาโยกซ้ายโยกขวาเป็นจังหวะ มีภาพวิวให้ได้ชมทิวทัศน์ขุนเขาสวยๆ แล้วมาถึงศูนย์ฯย่อย คุณประชัน แช่มชื่น เจ้าหน้าดูแลบอกว่าเราต้องคอยตัดแต่งให้ผักทองที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนวเส้นตรงยาว สะดวกในการดูแล และเก็บผลผลิต

ถัดมาไปเที่ยวชมโรงเพาะเห็ดที่บ้านปงตองจากศูนย์ไปประมาณ 10 กิโลเมตร โรงอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ภายในบรรจุก้อนเชื้อเห็ดหัวลิง หรือ เห็ดปุ้ยฝ้าย ที่ต้องควบคุมความชื้นอุณหภูมิอย่างดี  และยังมีโรงเพาะเห็ดโรงไม้ขนาดเล็กเป็นเห็ดปูตานที่เพิ่งเก็บไปก่อนหน้านี่ ที่อยู่ใกล้ๆกันนี้เป็น โรงงานชาปงตอง ที่แปรรูปคั่ว ชา กาแฟ ที่ปลูกในบริเวณนี้

ตะวันบ่ายเคลื่อนคล้อยลงต่ำ เราออกเดินทางขึ้นไปบน ดอยม่อนเงาะ อีกประมาณ 6 กิโลเมตร ที่มาของคำว่าม่อนเงาะมาจากภาษาม้งที่เรียกว่า โม่งโง๊ะ ที่แปลว่า แม่ จนเรียกกันเพี้ยนมาเป็น ม่อนเงาะ ที่มีลักษณะเป็นหน้าผาหินเรียงอยู่ใกล้เคียงกัน 3 ลูก ผาแรกคือผาลูก ผากลางคือแม่ที่เด่นสุด ผาสุดท้ายคือ ผาพ่อ

ช่วงฤดูหนาวค่ำไวเราจึงรีบจัดเตรียมกางเต้นท์ ไม้ฟืนไฟ ให้เรียบร้อยจากลานกางเต้นท์เดินเท้าต่ออีกประมาณ 500 เมตร ก่อนจะขึ้นม่อนเงาะมีป้ายบอก นางเงือกผา ที่ต้องใช้การสังเกตกันนิดเป็นหินงอกสีขาวนวลโดดเด่นที่มีลักษณะคล้ายนางเงือกหันหน้าเกาะหน้าผาอยู่  เดินเท้าต่ออีกนิดมาถึงบน ม่อนเงาะ มีหินเล็กๆเรียงรายสลับต้นหญ้าเหมือนเป็นที่นั่งให้เราได้นั่งชมตะวันลาขอบฟ้าความมหัศจรรย์สีสันก่อนที่จะสิ้นแสงแห่งวัน เรากลับมายังที่ลานกางเต้นท์

ความมืดลมหนาวเข้าปกคลุม บนท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาวระยับ กองไฟช่วยให้ความอบอุ่นขึ้นบ้าง เราล้อมวงสนทนาเรื่องราวต่างๆ บนม่อนเงาะกับหัวหน้าศูนย์ฯจนสมควรกับเวลาแยกย้ายกลับที่พัก หัวหน้ากลับศูนย์เพราะมีงานกองโตรออยู่ ผมขอซกตัวในเต้นท์ถุงนอนอุ่นๆ

ตี 4 ความสว่างของแสงจันทร์ราวกับกลางวัน มองไปรอบๆม่อนเงาะล้อมรอบด้วยทะเลหมอกขาวไม่นานักพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า อาบทะเลหมอกเป็นสีเหลืองทองช่างเป็นภาพที่งดงามมาก ที่บนม่อนเงาะมีจุดให้เราได้ชมทะเลหมอกสวยๆหลายจุด เดินเท้าขึ้นม่อนเงาะอีกครั้งบนความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,425 เมตร ดูราวๆอยู่ท่ามกลางทะเลมีเกาะแก่งก็คือยอดเขาที่สูงเหนือหมอกขึ้นมา ที่โขดหินเมื่อสังเกตดีเราจะพบความหลากหลายของธรรมชาติดอกไม้จิ๋วๆเล็กๆน่ารักที่ชูช่องาม อาทิ  แอสเตอร์,โครงแครง,ชมพูพิมใจ ขึ้นอยู่ที่หน้าผา

แดดแรงมากแล้วเก็บเต้นท์สัมภาระลงจากม่อนเงาะ แวะที่ หมู่บ้านม้งม่อนเงาะ  บ้านเรือนไม้ที่ปลูกลาดลงเขา แม่อุ้ยอายุ 70 กว่านั่งอาบแดดรับไออุ่นในยามเช้าในชุดสีดำ ตกแต่งด้วยลวดลายการปักหลากสีสันอันเป็นภูมิปัญญาของชาวม้ง  เดินลงต่ออีกนิดไปที่โรงเรือนเพาะกล้วยไม้ซีมิเดียม(             )ที่นำรังใส่ผักเก่าๆมารีไซเคิลสำหรับเพาะซีมิเดียมให้ช่อใหญ่ดอกโต หนึ่งช่อมีดอกนับสิบดอก มีสีชมพู สีเหลือง สีขาวและสีเขียว ที่ศูนย์ฯแห่งนี้ถือเป็นแหล่งเพาะซีมิเดียมที่ใหญ่ที่สุด

ม่อนเงาะเสน่ห์แห่งขุนเขาวิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ  วัน คืน ดูจะน้อยไปสำหรับในทริปนี้เสียจริงๆ กับเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย ต้องขอบอกว่าเราคงได้กลับมาเยือนอีกครั้งม่อนเงาะ

ขอขอบคุณ/ฝ่ายประชาสัมพันโครงการหลวง,ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ,พ่อหลวงบ้านม่อนเงาะ, พขร.หนุ่ม

การเดินทาง

จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ตรงไปประมาณ 37 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายที่ตลาดแม่มาลัย ไปตามทางหลวงหมายเลข 1095 สายแม่มาลัย-ปาย อีก 12 กิโลเมตร ถึงวัดสบเปิงเลี้ยวขวาไปตามถนนสบเปิง-ห้วยน้ำเย็น-ม่อนเงาะ 17 กิโลเมตร ระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงศูนย์โครงการหลวงม่อนเงาะ ประมาณ 67 กิโลเมตร

การขับขี่รถในเส้นทางท่องเที่ยวม่อนเงาะ ควรใช้ความระมัดระวัง ถนนบนดอยแคบ ตามโค้งต่างๆควรบีบแตร ให้ทางระหว่างรถสวนทาง

ร่วมแสดงความคิดเห็น