รถขับเคลื่อนด้วยก๊าซชีวภาพ


หากจะพูดถึงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงจำพวกก๊าซ LPG หรือ NGV หลายท่านอาจจะไม่ตื่นเต้นมากนัก เพราะมีให้เห็นอยู่มากมายตามท้องถนน แต่ถ้าจะพูดถึงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยก๊าซชีวภาพ หลายท่านคงสงสัยแน่นอนว่าจะทำได้อย่างไร แนวคิดการนำก๊าซชีวภาพมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ เกิดขึ้นภายใต้ “โครงการจัดสร้างต้นแบบระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดสำหรับยานยนต์” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาวิธีการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถใช้ก๊าซไบโอมีเทนอัดเป็นเชื้อเพลิงได้ และจัดสร้างต้นแบบระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนจากก๊าซชีวภาพ ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ (Mobile Unit) เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน

การดำเนินงานโครงการ ได้มีการจัดสร้างต้นแบบและพัฒนาเทคโนโลยีระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดสำหรับยานยนต์ (Compressed Bio-methane Gas : CBG) ขึ้น โดยใช้ก๊าซชีวภาพจากฟาร์มปศุสัตว์ เช่น มูลสุกร มูลวัว มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซ NGV มาตรฐานที่สามารถเติมได้ในรถยนต์ทั่วไป และได้มีทดลองใช้กับรถบัสของมหาวิทยาลัยเพื่อให้บริการแก่นักศึกษา ภายใต้นโยบาย Green and Clean Sustainable University ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งส่งเสริมให้ระบบขนส่งมวลชนในมหาวิทยาลัยใช้พลังงานทดแทน ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักศึกษาและบุคลากรเป็นอย่างดี โดยนำร่องทดสอบให้บริการจำนวน 2 คัน สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 325 คนต่อวัน หรือ 84,500 คนต่อปี สามารถลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ประมาณ 21,200 ลิตรต่อปี หรือ 517,926 บาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ 216,751 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปบรรจุถังสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ได้อีกด้วย
ที่มา www.enconfund.go.th

ร่วมแสดงความคิดเห็น