ไทยจัด ATF2018 ใช้พื้นที่เชียงใหม่ กระตุ้นเงินสะพัด

ประเทศไทยเลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการท่องเที่ยว อาเซียนครั้งที่ 37 หรือ The 37th ASEAN Tourism Forum (ATF 2018) ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมระดับ ผู้นำจาก 10 ประเทศอาเซียนและประเทศพันธมิตรคู่เจรจา พร้อมแสดงศักยภาพธุรกิจบริการของการท่องเที่ยวไทย และหารือพัฒนาความร่วมมือเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยมุ่งดันอาเซียนให้เป็น “Single Destination” หรือจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว ขณะที่ททท.คาดมูลค่าการซื้อขายสินค้าทางการท่องเที่ยวในระหว่างการจัดงานประมาณ 2 พันล้านบาท และมีเงินหมุนเวียนในพื้นที่สะพัดกว่า 100 ล้านบาท

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดงานแถลงข่าวการจัดการประชุม ATF 2018 ณ ศูนย์วัฒนธรรม ม่อนฝ้าย เชียงใหม่ โดยมีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เป็นประธานในการแถลง พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร. วไลลักษณ์ น้อยพยัคฆ์ และนายกเทศมนตรี เทศบาลนครเชียงใหม่ นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ พร้อมหนึ่งในคณะผู้ดำเนินการของ Gastronomy Tourism Conference หนึ่งไฮไลต์ในการประชุมครั้งนี้ เชฟชุมพล แจ้งไพร อุปนายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย ผู้ริเริ่มโครงการ “เชฟชุมพลสร้างเชฟชุมชน”

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปี 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เชียงใหม่เป็นนครที่มีความสง่างามในทางวัฒนธรรม ประการที่ 2 คือความงามของธรรมชาติเราเป็นดินแดนแห่งภูเขาเป็นจุดดึงดูดให้คนมาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ การที่เชียงใหม่ได้เป็นเจ้าภาพในเรื่องของสถานที่จัดงาน ASEAN Tourism Forum (ATF 2018) ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมที่มีความสำคัญในประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่จะแสดงศักยภาพให้ทางประชาคมอาเซียนให้รับทราบ

โดยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยจะได้ทำหน้าที่ เจ้าภาพการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน โดย ATF 2018 จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด ASEAN – Sustainable Connectivity, Boundless Prosperity ที่โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม 2561 นี้ โดยมี วัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ผลักดันให้ภูมิภาคอาเซียน เป็น Single Destination หรือ จุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นเวทีแสดงศักยภาพด้านการ ท่องเที่ยวของประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนต่อกลุ่มประเทศพันธมิตรคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย”

ATF 2018 มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับรัฐมนตรีและระดับ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยว (NTOs) ของประเทศอาเซียนและประเทศพันธมิตรคู่เจรจารวมกว่า 120 คน ประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือ การประชุมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน การประชุมสัมมนาทางวิชาการ การจัดแสดงนิทรรศการและสาธิตให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวอาเซียน การจัด Technical Tours นำผู้นำการ ท่องเที่ยวจากนานาประเทศลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อที่สะท้อนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในแถบจังหวัด เชียงใหม่ การประชุมธุรกิจไมซ์ หรือ MICE Conference โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการตลาด TRAVEX หรือ Travel Exchange ที่เป็นการเจรจาธุรกิจ ระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อจากประเทศในกลุ่มทวีปยุโรป อเมริกา เอเชีย และอาเซียน ซึ่งจะจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้า นานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2561 คู่ขนานไปกับการจัดประชุม

นายพงษ์ภาณุ กล่าวต่อไปว่า เวที ATF 2018 จะเป็นการหารือถึงทิศทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยรวมของ ประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) การท่องเที่ยวทางเรือสำราญ (Cruise Tourism) และการท่องเที่ยวชุมชน (Community-based Tourism) โดยรณรงค์และส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ ‘ทั้งภูมิภาค’ ตามนโยบายของภาคการท่องเที่ยวภายใต้เสาหลักประชาคมอาเซียน (AEC) และตามแนวทางขององค์การการ ท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ซึ่งประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวยั่งยืน และสอดคล้องกับการประกาศของประเทศ ไทย ให้ปี 2561 เป็น ‘ปีท่องเที่ยววิถีไทย…เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน’

ในส่วนของสัมมนาทางวิชาการ ASEAN Gastronomy Conference จะเป็นหัวข้อ “The Future of Food: Turning ASEAN Tradition and Craftsmanship into Sustainable Gastronomic Tourism” นำโดย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ ได้แก่ Dr. Diane Dodd ประธานผู้ก่อตั้ง International Institute of Gastronomy, Culture, Arts and Tourism (IGCAT), Dr. Tracy Berno รองศาสตราจารย์สาขา Culinary Arts จาก Auckland University of Technology, เชฟ ชุมพล แจ้งไพร ตัวแทนเชฟจากประเทศไทยผู้มาก ประสบการณ์และเป็นผู้ริเริ่มจัดทำโครงการ “เชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน” ดำเนินการเสวนาโดย ศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ กรรมการบริหารสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (PATA) ประจำประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ Technical Tours เป็นการลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัด เชียงใหม่ใน 2 เส้นทางด้วยกัน ได้แก่ “Sustainability Route” ตามรอยพระราชดำริไปยังพื้นที่ศูนย์พฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ รวมถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย และ “Community Route” ลงพื้นที่ เยี่ยมชมกิจกรรมชุมชนบ้านไร่กองขิง ชุมชนตัวอย่างเจ้าของหลายรางวัลระดับชาติและนานาชาติที่สะท้อนมุมมอง การท่องเที่ยวเชียงใหม่อันเปี่ยมอัตลักษณ์ของประเทศไทย และเป็นแนวทางที่นำไปสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชน และสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

“วันนี้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ตกปีละ 1 ล้านคน โดยเป็นนักท่องเที่ยวไทยประมาณ 70% และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30% และมีอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 10%อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามานั้นสร้างรายได้ให้่กับเชียงใหม่ประมาณ 1แสนล้านบาท โดยเป็นตัวเลขที่ขยายตัวเร็วมาก สายการบินจากต่างประเทศที่เดินทางบินตรงมายังจังหวัดเชียงใหม่สัปดาห์ละเกือบ 200 เที่ยวบิน สำหรับการที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเลือกเชียงใหม่เป็นสถานที่จัดงานประชุม ASEAN Tourism Forum (ATF) 2018 เราพิจารณาจากรอบด้านทุกประการแล้วเชียงใหม่มีความเหมาะสมมากที่สุด” ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในที่สุด

สำหรับการจัดการประชุมท่องเที่ยวอาเซียน หรือ ASEAN Tourism Forum (ATF) จัดขึ้นเป็นประจำต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา โดยในแต่ละปี ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษร ตามข้อตกลงในที่ประชุมกรอบความร่วมมืออาเซียน ประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2528 และต่อมาในปี 2533, 2538, 2543 และ 2551 ตามลำดับ และเวียนกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในปี 2561 ถือเป็นครั้งที่ 6

ขณะที่ ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ททท. กล่าวเสริมถึงกิจกรรมส่งเสริมการตลาด TRAVEX หรือ Travel Exchange ที่เป็นการเจรจาธุรกิจ ระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อจากประเทศในกลุ่มทวีปยุโรป อเมริกา เอเชีย และอาเซียน เป็นการประชุมของภาคเอกชนที่สำคัญซึ่งจะคู่ขนานไปกับภาครัฐ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีทิศทาง ที่จะมุ่งเน้นให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการเดินทางข้ามภูมิภาค หรือฮับอาเซียน เพื่อเชื่อมไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และประเทศอื่นๆที่ใกล้กัน ผู้ซื้อหรือ Buyer ทางคณะกรรมการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาคเอกชนได้คัดเลือก Buyer ที่มีคุณภาพจาก 70 ประเทศทั่วโลกมาร่วมงานทั้งสิ้น 300 คน ซึ่งจะเน้นผู้ซื้อที่มาจากระยะไกลจากประเทศในกลุ่มทวีปยุโรป อเมริกา เป็นต้น ในส่วนของผู้ขายหรือ Saller แน่นอนต้องเป็นผู้ขายจากประเทศไทยนจำนวน 140 กว่าคน รวมถึงผู้ขายจากประเทศเพื่อนบ้านไทย อาทิ สิงคโปร มาเลเซีย อินโดนิเซีย และฟลิปปินส์ จำนวน40 กว่าราย

“เราคาดว่าระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อมีการคุยกันในเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวส่วนของออเดอร์ที่จะตามมาน่าจะประมาณ 2,000 พันล้านบาท และเชื่อว่าสจะช่วยทำให้เงินสะพัดเชียงใหม่ในช่วงที่มีการจัดการประชุม จะมีผู้มาร่วมงานเป็นชาวต่างชาติจำนวน 500 คน เป็นในส่วนของผู้ซื้อ 300 คนและผู้ขายประมาณ 200 คน คิดเฉลี่ยถ้าทุกคนใช้เงินประมาณ 3 หมื่นบาท ซึ่งยังไม่ได้รวมผู้เข้าร่วมประชุมในระดับรัฐมนตรีและผู้ติดตามรัฐมนตรีอีกประมาณ 200 คน ประเมินว่าเงินจะสะพัดกว่า 100 ล้านบาท อย่างแน่นอน จะจับจ่ายใช้สอยมนเรื่องของที่พัก และธุรกิจบริการอื่นๆ เรามองในโอกาสใสอนาคตคือมีโอกาสที่จะพัฒนานำลูกค้าใหม่ๆเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ อาทิเช่น กลุ่มที่มีกำลังซื้อโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในทางตะวันออกกลางซึ่งมีการเปิดเส้นทางบินตรงเข้ามาบ้างแล้ว หรือจะเป็นลาตินอเมริกาคือประเทศบลาซิล อาร์เจนติน่า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่เชียงใหม่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมในตลาดระยะไกล” ดร. วไลลักษณ์ น้อยพยัคฆ์ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น