เชียงใหม่นิวส์พาเที่ยว “บ้านไทลื้อบ้านวังไผ่”

เส้นทางท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมที่เราร่วมเดินทางมาสัมผัส ในเส้นทางสายเหนือ เส้นทางหลวงสาย 107 เชียงใหม่ – ฝาง อีกชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำกกมีกำแพงขุนเขาป่าไม้ที่ปิดกั้น “โฮมสเตย์ไทลือบ้านวังไผ่”

 

ชาวไทลื้อ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีเมืองเชียงรุ่งเป็นเมืองหลวง ส่วนการอพยพครั้งสำคัญของชาวไทลื้อสู่ล้านนาเป็นการกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนา เมืองเชียงตุง เมืองยอง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เพื่อช่วยฟื้นฟูบ้านเมืองในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง หรือ เรียกว่ายุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง

บ้านไทลื้อบ้านวังไผ่  ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้อพยพมาจากดินแดนสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยมีนายแสงเปา เจริญพร เข้ามาอาศัยอยู่พร้อมเครือญาติเป็นกลุ่มแรกเมื่อปี พ.ศ.2520 เริ่มแรกมีจำนวนครัวเรือนอยู่เพียง 4 ครัวเรือน  คำว่า วังไผ่ มาจากภาษาไทลื้อแม่น้ำกกที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ไผ่  คือ ต้นไผ่ที่ล้อมรอบหมู่บ้าน สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยป่าไผ่ และแม่น้ำไหลผ่าน พอหลังจากนั้นได้มีผู้อพยพเข้ามามากขึ้น จึงได้ก่อตั้งหมู่บ้านขึ้น ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านวังไผ่” เมื่อปี พ.ศ.2527 โดยมี นายแสงเปา เจริญพร เป็นผู้นำชุมชนคนแรก

ร่วมย้อนอดีตการเดินทางโดยล่องเรือ หรือ แพไม้ไผ่  จากท่าเรือสาธารณะท่าตอนไปตามสายน้ำกกคดเคี้ยวสู่หมู่บ้าน  ตลอดสองฝากฝั่งจะได้สัมผัสธรรมชาติ เรือแล่นผ่านโตรกหินผาเกาะแก่งในสายน้ำระยะทางกว่า 15 กิโลเมตร ใช้เวลา 4 ชั่วโมง จะใช้เวลาช้านานนั้นขึ้นอยู่กับฤดูกาลของกระแสน้ำอีกด้วย เรือนำนักท่องเที่ยวเทียบท่าเข้าสู่หมู่บ้านท่าวังไผ่ คนเฒ่าคนแก่หมู่บ้านรอต้อนรับที่ “ศาลารวมใจ” ด้วยการบายศรีที่ประกอบด้วย  กล้วย เกลือ ไข่ น้ำอ้อย และข้าวเหนียว แต่ละสิ่งล้วนมีความหมายที่แฝงไว้ คนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านผูกข้อมืออวยพร แล้วมาไหว้ “ศาลเจ้าบ้าน” เจ้าหาญหล้าหอเจ้าบ้านเทวดาผู้ปกปักษ์รักษาดูแลหมู่บ้านให้ร่มเย็นเป็นสุข และเป็นสิริมงคลแก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือน แล้วนำกระเป๋าสัมภาระเข้าบ้านพักโฮมสเตย์ที่ตั้งบนเนินเขา

จากนั้นเรานั่งรถจากหมู่บ้านไปยัง “วัดป่าภูมิรัตนหริรัญ” ที่เรามองเห็นยอดพระธาตุอยู่บนเนินเขาแต่ไกลๆ “พระบรมธาตุเจดีย์ศรีภูมิรัตนหิรัญ” (พระบรมธาตุเจ้าสบงาม)ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงมองเห็นทิวทัศน์ได้อย่างสวยงาม ซึ่งข้ามแม่กกไปก็เป็นจังหวัดเชียงราย แล้วมาให้อาหารกวางที่ทางวัดได้ไถ่ชีวิตเลี้ยงดูแลไว้มี 21 ตัว แล้วสายฝนโปรยปรายลงมา

ในยามค่ำร่วมรับประทานขันโตกไทลื้อเมนู ไก่สิบสองปันนา,ปลานอนแค่ว,ยำบุก,น้ำปู๋ ต้มหน่อไม้ พร้อมขับกล่อมบรรเลงด้วยบทเพลงพื้นเมือง ชมการแสดงทางวัฒนธรรม รำดาบ ฟ้อนเจิง และฟ้อนรำสักการะวัก การรำต้อนรับแขกผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมฟ้อนรับกับช่างฟ้อนเป็นที่สนุกสนานรื่นเริง กลับเข้าที่พัก

สายหมอกยามเช้าค่อยๆจากลงแสงแดดอ่อนๆสาดแสงลงมา พระสงฆ์ออกบิณฑบาตในหมู่บ้าน เราได้ร่วมใส่บาตรร่วมรับประทานอาหารเช้า กาแฟ น้ำสมุนไพรใบเตย เมนู  “ต้มหมี่ไก่  และหน่ออบ”  พร้อมออกเดินป่าตามหาบุกป่าโดยมีรถไปส่งยังเชิงเขา เส้นทางไปตามแนวเขา จุดแรกพบ “อ๋องร่อน” คือวุ้นไม้ไผ่ที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่  “หญ้าเมืองวาย” ต้นสาบเสือ ใช้ห้ามเลือดใส่แผลสด  “ส้มเห็ด” ต้มทานกับน้ำพริก “ยู่ยี่บ่าแหลก” สมุนไพรแก้เข่าเสื่อม เส้นทางชมพันธุ์ไม้มาสิ้นสุดที่พระธาตุโดยมีรถมารอรับกลับเข้าหมู่บ้าน

ช่วงบ่ายมาเรียนรู้ภูมิปัญญาของชุมชนไทลื้อของ นายดี วงศ์ใหญ่  ที่ทำบุกมานานกว่า 10 ปี มีบุกก้อน บุกเส้น บุกผง  เราชมกระบวนการแปรรูปบุกเส้น เริ่มปอกเปลือกทำความสะอาด นำลงต้มในกระทะแล้วหั่นเป็นชิ้นๆเข้าปั่น แล้วใส่กระบอกอัดเป็นเส้นลงกระทะต้มน้ำร้อน ตักลงแช่ในน้ำเย็น เลือกซื้อบุกเป็นของฝาก แล้วช่วงเวลาที่เราต้องเดินทางกลับก็มาถึงกระเป๋าออกจากบ้าน พร้อมการโบกมือด้วยอาลัย

เส้นฝ้ายสายสัมพันธ์ การต้นรับด้วยมิตรไมตรีดุจพี่น้อง ชุมชนไทลื้อบ้านวังไผ่ที่อบอุ่นอยากเชิญชวนคุณได้มาสัมผัสที่ทำให้เราต้องกลับมาเยือนอีกครั้

ร่วมแสดงความคิดเห็น