8 สาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่

เผยแล้ว… อุบัติเหตุเชียงใหม่ ในช่วง 7 วันระวังอันตราย รวม 127 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 135 คน และเสียชีวิต 10 คน ซึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจาก
1. ขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวกกันน้อค
2. เมาแล้วขับ
3. ขับรถผิดกฏจราจร
4. หลับใน
5. ตัดหน้ากระชั้นชิด
6. ขับรถไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
7. ขับรถเร็วเกินกำหนด
8. ทัศนวิสัยไม่ดี

จากผลการดำเนินการของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 61 หรือช่วงเฝ้าระวัง 7 วันอันตราย (ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.60 จนถึงวันที่ 3 ม.ค.61) พบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตของ จ.เชียงใหม่ เมื่อเปรียบเทียบโดยค่าเฉลี่ยแล้ว ถือว่าลดลงในทุกด้าน โดยสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในห้วงดังกล่าวมีทั้งสิ้น 127 ครั้ง ซึ่งลดลงร้อยละ 9.93 จากค่าเฉลี่ยทั้ง 3 ปี และในส่วนของผู้บาดเจ็บมีจำนวนทั้งสิ้น 135 คน ซึ่งลดลงไปจากสถิติเดิมร้อยละ 6.25 และสถิติผู้เสียชีวิตมี 10 ราย ลดลงไปร้อยละ 16.67 ซึ่งเป็นความสำเร็จในการปฏิบัติงานของ จนท.ทุกฝ่าย

โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้มาตรการในการเฝ้าระวัง ตรวจจับ จากผลการดำเนินการในครั้งนี้ มีการตรวจจับผู้กระทำความผิดได้ทั้งหมด 77,770 คัน และมีการปรับดำเนินคดีถึง 25,129 คัน โดยความผิดที่พบมากที่สุดคือไม่มีใบอนุญาตขับขี่ และการไม่สวมหมวกนิรภัย

นอกจากนี้ หากมาทบทวนการเกิดอุบัติเหตุจะพบว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการขับขี่รถ ขณะเมาสุรา การขับรถเร็วเกินกำหนด ส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์เป็นส่วนใหญ่

ขณะเดียวกันสิ่งที่ จ.เชียงใหม่ มีความห่วงใยคือ เรื่องของการเกิดอุบัติเหตุใหญ่ หรืออุบัติเหตุหมู่ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกที่ อ.ฮอด ครั้งที่สองที่ อ.ฝาง และครั้งที่สามที่ อ.พร้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีการวิเคราะห์ อย่างเช่น กรณีการเกิดอุบัติเหตุที่ อ.ฮอด ที่ผู้เดินทางมากันแบบครอบครัว ขับขี่รถโดยไม่รู้หรือไม่ชินเส้นทางเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น จึงต้องวิเคราะห์ว่าเส้นทางหลักนั้น มีป้ายเตือนเพียงพอหรือไม่ ส่วนที่กรณีการเกิดอุบัติเหตุของ อ.ฝาง นั้น ก็มีด้วยกันสองกรณีคือ ผู้เช่าได้เช่ารถที่ไม่ถูกต้อง และผู้ขับขี่ที่ทำไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ใช่รถสาธารณะหรือรถรับจ้าง ที่มีประสบการณ์ในการพารถพาคนเดินทางไป

ส่วนของกรณี อ.พร้าว นั้น เป็นเรื่องที่เกิดจากความประมาทของครอบครัว ซึ่งตรงจุดนี้จะต้องมีการมุ่งเน้นในการดำเนินการต่อไป โดยอย่างแรกคือการสร้างจิตสำนึกให้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้กลไกของหมู่บ้าน ของชุมชน ในการเข้าไปดูแลให้คำแนะนำ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และสามารถป้องกันได้ด้วยความไม่ประมาท โดยสวมหมวกนิรภัย และการคาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ จะต้องเน้นในมาตรการการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่หลายที่เกิดเหตุ มีเยาวชนอายุแค่ 17 ปี เสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบว่า ร้านค้าได้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้เสียชีวิตในวันเกิดเหตุจริงหรือไม่ เพื่อจะใช้ดำเนินการตามคำสั่งของ คสช.ต่อไป

ซึ่งในการจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่มีใบอนุญาต จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมไปถึงการควบคุมจุดเสี่ยง ทั้งจุดเสี่ยงทางหลวงและทางชุมชน โดยต้องมีการดูแลควบคู่กันทั้งทางราชการและชุมชน เพื่อช่วยกันลดจุดเสี่ยง โดยคาดหวังว่าการรณรงค์ในครั้งนี้จะช่วยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งคนในจังหวัดเกิดความตระหนัก และความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น