พิพิธภัณฑ์ชาวเขาเชียงใหม่ แหล่งศึกษาวิถีชีวิตคนบนดอย

พิพิธภัณฑ์ชาวเขาได้จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี ความเชื่อและภูมิปัญญาของชาวเขา ซึ่งถูกนำมาถ่ายทอดผ่านการจัดแสดงทางวัตถุศิลป์ จัดเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวเขาที่สมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าสำหรับผู้สนใจทั่วไป นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงใหม่

ในช่วงฤดูแห่งการท่องเที่ยวนักเดินทางท่องเที่ยวธรรมชาติหลายท่านที่ชื่นชอบการเดินป่าเพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาคงต้องพบกับอุปสรรคทางธรรมชาติอันได้แก่สายหมอกและลมหนาว อาจสร้างความยากลำบากในการเดินทางท่องเที่ยวป่าเป็นอย่างมาก แต่สำหรับผู้ที่มีจิตใจมุ่งมั่นต่อให้มีอุปสรรคยากเข็ญเพียงใดก็จะฝ่าฟันไปให้จงได้ก็ขอเอาใจช่วยให้การเดินทางใน “ทริป” นั้นผ่านพ้นไปด้วยดี
แต่สำหรับนักท่องเที่ยวธรรมชาติ “มือใหม่” หรือยังมีใจไม่เต็มร้อยหากแต่รักที่จะเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวเขาบนดอยสูง ก็มีทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่รักจะชมความงามแห่งวิถีชีวิตชาวเขา ซึ่งปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงเรื่องราวของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ มาไว้ที่นี่ ที่สำคัญพิพิธภัณฑ์ที่ว่าอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่เลย
จะว่าไปแล้วในปัจจุบันวิวัฒนาการด้านการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ไทยได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปมาก ในจังหวัดเชียงใหม่มีพิพิธภัณฑ์ที่จัดเรื่องราวเฉพาะทางต่าง ๆ นั้นมากมายไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์เงินตรา พิพิธภัณฑ์หนังสือ พิพิภัณฑ์แมลง พิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งก็นับเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจเฉพาะเรื่องนั้นได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าหาความรู้

พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศรวมถึงประชาชนชาวเชียงใหม่และใกล้เคียงเดินทางเข้ามาชมและศึกษาค้าคว้าไม่แพ้กับพิพิธภัณฑ์อื่นก็คือ พิพิธภัณฑ์ชาวเขาจังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในความดูแลของสถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางด้านชาติพันธุ์วิทยา เก็บรวบรวมวัตถุพยานหลักฐาน รวมไปถึงจัดแสดงเรื่องราวทางด้านวัฒนธรรมของชนเผ่าบนที่สูง หรือที่เราเรียกว่า “ชาวเขา” ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชนเผ่าจำนวน 9 เผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า ลีซอ มูเซอ อีก้อ ลัวะ ถิ่น ขมุ และกลุ่มชนเล็กที่สุดอีกกลุ่มหนึ่งคือ มราบรี หรือ ผีตองเหลือง ซึ่งมีลักษณะวัฒนธรรมของตนเองที่น่าสนใจ
พิพิธภัณฑ์ชาวเขาได้จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี ความเชื่อและภูมิปัญญาของชาวเขา ซึ่งถูกนำมาถ่ายทอดผ่านการจัดแสดงทางวัตถุศิลป์ จัดเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชาวเขาที่สมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าสำหรับผู้สนใจทั่วไป นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงใหม่
เมื่อเดินทางเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ชาวเขา เราจะสังเกตเห็นว่ามีการจัดแสดงตกแต่งภายในได้อย่างสวยงามน่าชม โดยภายในพิพิธภัณฑ์ชาวเขาได้แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 3 ชั้น คือ เมื่อขึ้นบันไดด้านหน้าจะพบกับชั้นแรกจัดแสดงวัตถุศิลป์ของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ โดยได้แยกเป็นหมวดหมู่ ประกอบด้วยเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องมือเกษตร เครื่องดนตรี เครื่องจักสาน เครื่องใช้ในพิธีกรรม ของใช้ในครัวเรือนและสิ่งของอื่น ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวเขา นอกจากนั้นบริเวณลานกลางห้องยังจัดแสดงรูปภาพประกอบคำบรรยายและหุ่นรูปปั้นชาวเขา เป็นการจำลองเอาวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเขาให้นักท่องเที่ยวได้ชม
ระหว่างทางเดินขึ้นบันไดไปชั้นที่สอง เรายังสามารถพบเห็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่แปลกพิศดารของชาวเขาติดไว้กับแนวผนังทางเดินตลอดสาย เมื่อขึ้นไปถึงชั้นที่สอง จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาและผลการดำเนินงานการพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาตามแนวนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้ดำเนินงานโดยกรมประชาสงเคราะห์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงถึงการศึกษาวิจัยชาวเขาของสถาบันวิจัยชาวเขาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในส่วนสุดท้ายชั้นบนสุด จัดแสดงพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาบนพื้นที่สูง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
นอกจากนั้นบริเวณชั้นล่างสุดยังเป็นมีจำหน่ายสิค้าผลิตภัณฑ์ของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ในราคาย่อมเยา นักท่องเที่ยวสามารถมาเลือกซื้อหาของที่ระลึกของฝากได้ บริเวณภายนอกพิพิธภัณฑ์ยังร่มครึมไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด สามารถใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดสุดสัปดาห์ได้อย่างสบาย ๆ
สำหรับผู้สนใจอยากจะเดินทางไปศึกษาสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาหลากหมายเผ่าโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางขึ้นไปบนดอยสูงนั้น สามารถเดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์ชาวเขาซึ่งอยู่ภายในบริเวณสวนล้านนา ร.9 บนถนนโชตนา หรือจะเดินทางใช้เส้นทางสายคันคลองก่อนถึงสนามกีฬาสมโภช 700 ปี จะมีป้ายบอกไว้
พิพิธภัณฑ์ชาวเขาจังหวัดเชียงเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-5321-0872,0-5322-2494.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected].
3/1/61

ร่วมแสดงความคิดเห็น