เปิดหลักสูตรสร้างอาชีพ ดูแลผู้สูงอายุ นำร่องภาคเหนือแห่งแรก

หอการค้า 5 ภาค ร่วมลงนาม MOU กับสถาบันการศึกษา เปิดหลักสูตรสร้างอาชีพแคร์กิฟเวอร์ดูแลผู้สูงอายุ เพิ่มแรงงานคุณภาพป้อนธุรกิจ รับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีก 5 ปี นำร่องการสอนภาคเหนือเป็นแห่งแรก เริ่มสอนปี 2561
นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ เปิดเผย ว่า การประชุมหอการค้าครั้งล่าสุดได้มีการทำเอ็มโอยู (MOU) ความร่วมมือกันระหว่างหอการค้าทั้ง 5 ภาค และสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 รวมถึงโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท และสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย เพื่อเปิดสอนหลักสูตรสร้างอาชีพการดูแลผู้สูงอายุแห่งแรกในภาคเหนือ ซึ่งตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) บ่งชี้ว่า ภาคเหนือจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนทุกภาคในประเทศไทย ฉะนั้นในภาคเหนือจึงมีความต้องการแรงงานในด้านนี้เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ หลักสูตรที่จะเปิดสอนได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอาชีวศึกษา และสามารถเปิดสอนได้ทั่วประเทศ จึงเป็นระบบทวิภาคีที่ชัดเจน โดยจะมีสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 จังหวัดพิษณุโลก นำร่องเปิดสอนหลักสูตรนี้เป็นสถาบันแรก ซึ่งหลักสูตรนี้ไม่เพียงแต่สร้างอาชีพเท่านั้น ยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นจีดีพีได้ เช่น ธุรกิจลองสเตย์ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่มีผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากถึง 4 พันคน
นางสาวรัชฎา ฟองธนกิจ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในภาคเหนือประสบปัญหาเกี่ยวกับแคร์กิฟเวอร์ หรือคนดูแลผู้สูงอายุอยู่ 2 ข้อ คือ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และไม่มีคุณภาพ เพราะกลุ่มอาชีพนี้จะต้องมีความรู้มากพอสมควร แต่ปัจจุบันระบบการศึกษาของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ มีเพียงหลักสูตรนอกโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป เมื่อเรียนครบ 420 ชั่วโมง ก็รับประกาศนียบัตรสามารถทำงานดูแลผู้สูงอายุได้ ฉะนั้นหลังจากร่วมทำ MOU กรมอาชีวศึกษาต้องรองรับบุคลากรในระดับ ปวช.และ ปวส.เท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาผู้เรียนเด็กเกินไปและวุฒิภาวะยังไม่เพียงพอ
นางสาวรัชฎากล่าวอีกว่า หากวัดตามการกำหนดระดับของสหประชาชาติ เมื่อมีผู้สูงอายุ 20% ของจำนวนประชากรในประเทศจะก้าวเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุในระดับสมบูรณ์ และตอนนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 18% ของประชากร 65 ล้านคน อีกประมาณ 5-6 ปีจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในปัจจุบันมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกของสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย 151 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และกระจายตัวอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครนายก ทั่วทุกภูมิภาค
“หลักสูตรนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก มีสถาบันการศึกษาในภาคใต้ต้องการนำหลักสูตรที่จะเปิดสอนในภาคเหนือไปใช้เพื่อผลิตแคร์กิฟเวอร์ดูแลผู้สูงอายุเช่นกัน เพราะต้องรองรับการลงทุนจากนักลงทุนที่เข้ามาทำลองสเตย์ หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างลองสเตย์ของกลุ่มทุนคนไทยที่หาดกมลา จังหวัดภูเก็ต ด้วยเงินลงทุนหลายพันล้านบาท ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย คนกลุ่มนี้ก็มีศักยภาพในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านค่าครองชีพที่ถูกกว่าประเทศตัวเอง สามารถเลือกระดับมาตรฐานใช้บริการได้หลากหลายในอนาคต และภูมิศาสตร์ของประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศดีเหมาะกับผู้สูงอายุ”
นายสงวน หอกคำ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า สำหรับสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 จังหวัดพิษณุโลก เป็นสถาบันแรกที่ร่วมมือกับหอการค้า พัฒนาหลักสูตรขึ้นมา และจะเปิดสอนในภาคเรียนปี 2561 เป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีความน่าสนใจด้วยการเรียนการสอนในระบบทวิภาคี สามารถไปฝึกงานหรือปฏิบัติงานอยู่กับสถานประกอบการจริง และผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพได้ทันทีหลังเรียนจบ
“คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้เรียนต้องมีใจรักในงานบริการ เราจะมีหลักสูตรภาษาให้เรียนทั้งภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ เน้นพัฒนาให้สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายได้ต่อเดือนไม่น่าจะต่ำกว่า 15,000 บาท สามารถไปทำงานต่อได้ในต่างประเทศ และสิ่งที่จะตามมาหลังจากเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนคือเรื่องของธุรกิจที่จะเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการจัดการดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจอาหารผู้สูงอายุ หรือการท่องเที่ยว นักลงทุนจะกล้ามาลงทุนมากขึ้น เพราะเราสามารถป้อนบุคลากรเข้าไปในระบบได้ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีการเติบโตได้ในอนาคต” นายสงวนกล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น