ขับเคลื่อนตราสัญลักษณ์ GI ลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน

อบจ.ลำพูน ประชุมขับเคลื่อนการติดตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน หวังสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์

นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนการติดตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน ซึ่งการยกระดับลำไยเบี้ยวเขียวลำพูนเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมชุมชนทั้ง 57 แห่ง และได้มีการสืบค้นจนค้นพบของดีของเด่น มีการขับเคลื่อนธนาคารความหลากหลายสายพันธุ์ลำไยตำบลหนองช้างคืน ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ BEDO ลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ขอบเขตการผลิตพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอเมืองลำพูน ได้แก่ ต.หนองช้างคืน ต.อุโมงค์ ต.ประตูป่า ต.เหมืองง่า ต.ริมปิง และ ต.ต้นธง ปัจจุบันยังไม่ได้มีการติดตราสัญลักษณ์ GI บนตัวลำไย

เนื่องจากจะต้องมีกระบวนการอีกหลายขั้นตอน ซึ่งในการประชุม ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับความชัดเจนของสมาชิกฯ โดยจากยอดสมาชิก จำนวน 30 ราย อยู่ในพื้นที่ของตำบลหนองช้างคืน และตำบลอุโมงค์ สำหรับอีก 4 ตำบล ที่อยู่ในขอบเขตพื้นที่ยังไม่ได้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิก คาดว่าเกิดจากการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง หรืออาจยังไม่เข้าใจหลักเกณฑ์กระบวนการ ซึ่งสามารถสอบถามมายังสำนักปลัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้ ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-5359-7260 ต่อ 114

ทั้งนี้ การสมัครเป็นสมาชิกจะต้องมีการกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนกำหนด และมีเอกสารแนบ นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการขับเคลื่อนของกลุ่มเบี้ยวเขียวลำพูน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เรียกว่า ทีม KM GI ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจไปพร้อมกันด้วย และได้วางแนวทางในการดำเนินการตรวจพิสูจน์ DNA สายพันธุ์ลำไย (ลำไยเบี้ยวเขียวป่าเส้าแท้) ของแต่ละสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกที่ปลูกต้นลำไยเบี้ยวเขียวไม่มากราย และจำนวนต้นไม่มากนัก เบื้องต้นจะมีการตรวจพิสูจน์ DNA 100 ต้นแรกก่อน โดยความร่วมมือของ BEDO และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นจะมีการดำเนินการจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบภายใน เพื่อยื่นขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI และการรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมด้วย ในส่วนของระบบการปลูกลำไย ตามแนวทางของ ผศ.ดร.พาวิน มะโนชัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มใช้วิธีต้นเตี้ยและตัดตรงกลางเพื่อให้ทรงพุ่มออกข้าง ลดต้นทุนในการดูแลและเก็บเกี่ยว 1 ไร่สามารถปลูกได้มากเกือบ 200 ต้น ผลผลิตคาดว่าจะได้ไร่ละ 2,000 กิโลกรัม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน นำโดย นางนิชาดา สุริยะเจริญ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้จัดการประชุม GI ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อหาแนวทางในการติดตรา GI บนผลิตภัณฑ์และการจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ณ ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านริมร่อง ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน จะผลักดันให้มีการติดตราสัญลักษณ์ GI หลังจากที่มีประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI แล้ว หากมีการติดตราสัญลักษณ์จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น