งานหัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย การอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“หมู่บ้านจึงทำให้หมู่บ้านถวายกลายเป็นแหล่งซื้อหาไม้แกะสลักและเกิดธุรกิจขึ้นในหมู่บ้าน แต่ละบ้านจะปรับบริเวณบ้านของตนเองโดยใช้บริเวณหน้าบ้านเป็นร้านค้าส่วนหลังบ้านก็ทำงานหัตถกรรม และแพร่ขยายออกไปยังบ้านต่าง ๆ จนหมู่บ้านถวายกลายเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมแกะสลักไม้ในครอบครัวนับตั้งแต่นั้นมา”

ภูมิปัญญาของชาวบ้านในการรังสรรค์งานศิลปะประเภทแกะสลักไม้ดูเหมือนว่าจะไม่มีที่ไหนเทียบเท่ากับการแกะสลักไม้ที่หมู่บ้านถวาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ศิลปะการแกะสลักไม้ที่บ้านถวายถือได้ว่าเป็นงานฝีมือชั้นครูที่ชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนหากันแกะสลักอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนเป็นที่มาของงานศิลปหัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย ในทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมงานกันอย่างมากมาย

แต่เดิมชาวบ้านถวายมีพื้นเพเป็นชาวเกษตรกร แต่เนื่องด้วยประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควรทำให้ชาวบ้านทั่วไปมีฐานะยากจน ดังนั้นหลังฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะเดินทางออกไปรับจ้างทำงานก่อสร้างทั่วไปที่ในตัวเมือง บางส่วนก็เปลี่ยนอาชีพมาเป็นพ่อค้าแม่ขายซึ่งต้องเดินทางไปค้าขายยังต่างถิ่น

จนกระทั่งปี พ.ศ.2500 – 2505 พ่อใจมา อิ่นแก้ว ,พ่อหนานแดง พันธุษาและพ่อเฮือน พันธุศาสตร์ ท่านทั้งสามได้ไปรับจ้างอยู่ในเมืองเช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป จนท่านได้ไปที่ร้านน้อมศิลป์บ้านวัวลายซึ่งเป็นร้านจำหน่ายไม้แกะสลักที่โด่งดังในช่วงนั้น ทั้งสามคนเกิดความสนใจในการแกะสลักไม้ จึงได้ขอทางร้านทดลองแกะดู ปรากฏว่าฝีมือพอทำได้และมีรายได้ดีกว่าการรับจ้างก่อสร้าง ท่านจึงได้หันมาเปลี่ยนอาชีพจากการรับจ้างทั่วไปมาเป็นรับจ้างแกะสลักไม้ที่ร้านดังกล่าว จนเมื่อเกิดความชำนาญเมื่อมีงานมากขึ้นทางร้านจึงได้ให้นำงานมาทำที่บ้าน และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดงานแกะสลักไม้ให้แก่ลูกหลาน ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านโดยไม่ได้หวงความรู้แม้แต่น้อย

งานที่นำมาถ่ายทอดครั้งแรกเป็นการแกะสลักไม้เป็นแผ่นลวดลายต่าง ๆ เช่นลายรามเกียรติ์ ลายครุฑ ตุ๊กตาดนตรี ต่อมาก็เริ่มทำเป็นตัวพระและรับซ่อมแซมตกแต่งของเก่าประเภทงานไม้ และเริ่มลอกเลียนแบบของเก่าที่มีผู้นำแบบมาซ่อมแซม พร้อมทั้งออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านถวายเอง จากนั้นได้มีกลุ่มสตรีแม่บ้านของบ้านถวายออกไปรับจ้างทำงานทำสี แอนติค และตกแต่งลวดลายเส้นที่ร้านในเมืองย่านวัวลายและได้พัฒนาฝีมือทำลายปิดทอง จนเกิดความชำนาญ เมื่อมีงานเพิ่มมากขึ้นทางร้านก็ได้ให้นำงานมาทำที่บ้านโดยได้คิดค่าจ้างให้เป็นชิ้น เมื่องานเสร็จก็ได้นำไปส่งที่ร้าน ก็นับได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พบปะกับลูกค้าของทางร้านซึ่งลูกค้าก็ได้ติดต่อโดยตรงเข้ามาซื้อสินค้าถึงในหมู่บ้านจึงทำให้หมู่บ้านถวายกลายเป็นแหล่งซื้อหาไม้แกะสลักและเกิดธุรกิจขึ้นในหมู่บ้าน แต่ละบ้านจะปรับบริเวณบ้านของตนเองโดยใช้บริเวณหน้าบ้านเป็นร้านค้าส่วนหลังบ้านก็ทำงานหัตถกรรม และแพร่ขยายออกไปยังบ้านต่าง ๆ จนหมู่บ้านถวายกลายเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมแกะสลักไม้ในครอบครัวนับตั้งแต่นั้นมา

การเดินทางไปยังบ้านถวาย สามารถทำได้โดยมุ่งตรงสู่ถนนสายเชียงใหม่-หางดง จากสี่แยกสนามบินเพียง 11 ก.ม. เลี้ยวซ้ายก่อนถึงที่ว่าการอำเภอหางดงอีกเพียง 4 ก.ม.เท่านั้น

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น