ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ย้ำชัดหลักสูตรมีคุณภาพ มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิต ที่มีคุณภาพเป็นสำคัญ

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2561 ผศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทน อธิการบดี ม.ราชภัฎเชียง ใหม่ เปิดเผยถึงกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เผยรายชื่อหลัก สูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษา เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน โดยมีรายชื่อหลักสูตรของ ม.ราชภัฎเชียงใหม่ จำนวน 5 หลักสูตรรวมอยู่ด้วยนั้น จากการประกาศรายชื่อหลักสูตรดังกล่าว เป็นการพิจารณาจากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน (IQA) เฉพาะองค์ประกอบที่ 1 เท่านั้น
คือ ตัวบ่งชี้ 1.1 การบริหารจัดการหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐาน อาทิ จำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตร คุณสมบัติของอาจารย์ประจำหลักสูตร และการปรับปรุงหลักสูตรตามรอบระยะเวลา อันเป็นผลการประเมิน ในปีการศึกษา 2558 และ 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรแล้ว

ในส่วนของรายชื่อ 5 หลักสูตรที่ สกอ. ได้ประกาศนั้น ม.ราชภัฎเชียงใหม่ ได้ดำเนินการปิดไปแล้ว 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชน (หลักสูตรนานาชาติ) และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจ และการศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) โดยยุติการรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 และ 2557 เป็นต้นมา ซึ่งสภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบ ให้ปิดหลักสูตรแบบมีเงื่อนไข และให้ดูแลนักศึกษาที่คงค้างในระบบจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

นอกจากนี้ อีก 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร ได้ยุติการรับนักศึกษาตั้งแต่ ปีการศึกษา 2558 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอขอปิดหลักสูตร เนื่องจากไม่มีการเปิดรับนักศึกษาติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งในการปิดหลักสูตรแบบมีเงื่อนไขนั้น จะต้องดูแลนักศึกษาคนสุดท้ายจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา สำหรับหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ เป็นหลักสูตรที่เปิดรับนักศึกษาที่วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นส่วนราชการของมหาวิทยาลัยตามกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการ ไม่ใช่โครงการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง

ทั้งนี้จากการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ปีการศึกษา 2553 – 2557 ผลการประเมินเป็นไปตามเกณฑ์มาตร ฐานทุกประการ แต่ในปีการศึกษา 2558 และ 2559 ผู้ประเมินมีความเห็นว่าเป็นการจัดการศึกษา ที่แยกจากกันเป็น 2 แห่ง จึงต้องมีจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตร รวมจำนวน 10 คน คือประจำหลักสูตรที่เปิดสอนที่เชียงใหม่ จำนวน 5 คน และที่แม่ฮ่องสอน จำนวน 5 คน มหาวิทยาลัยจึงได้ยุติการรับนักศึกษาที่แม่ฮ่องสอน ในปีการศึกษา 2560 และได้ปรับปรุงแก้ไขจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตรจำนวนทั้งสิ้น 10 คน เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งสภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้แก้ไขปรับปรุงหลักสูตร และได้จัดส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแล้ว

ผศ.ดร.ชาตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการจัดการศึกษาของ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญ ญาเอกทุกหลักสูตร เป็นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการหลักสูตร ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานทุกปีการศึกษา เพื่อมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเป็นสำคัญ ซึ่งการพิจารณาคุณภาพและมาตรฐานหลักสูตร จำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบรอบด้าน ไม่เฉพาะเพียงองค์ประกอบที่ 1 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น