อบรมเชิงปฏิบัติการ “การกระตุ้นพัฒนาการเด็กล่าช้า ปี 2561”

ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ร่วมกับ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ปฏิบัติงานเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการเด็กล่าช้า ปีงบประมาณ 2561 ระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2561 ณ โรงแรมเมอร์เคียว เชียงใหม่ โดยมีนายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดการอบรมพร้อมบรรยายพิเศษ ให้กับ บุคลากรสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 1 จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนที่รับผิดชอบเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการเด็กล่าช้า จำนวน ทั้งสิ้น 120 คน
นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เรื่องการพัฒนาการเด็กเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและถือเป็นปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งของประเทศไทยที่เราจะต้องรีบร่วมมือกันดำเนินการแก้ไข เพราเด็กที่ได้รับการคัดกรองพัฒนาการแล้วพบว่ามีความล่าช้า หากไม่ได้รับการช่วยเหลือกระตุ้น จะทำให้มีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่นๆของโกต่อไปในอนาคต รวมถึงเรื่องการเรียนด้วย ดังนั้นหากเราสามารถคัดกรองพัฒนาการเด็กตั้งแต่เนิ่นๆและทำการช่วยเหลือ กระตุ้นให้ทันท่วงที เด็กจะมีพัฒนาการที่สมวัย และส่งผลให้พัฒนาเรื่องอื่นๆต่อไปได้
ที่ผ่านมาโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมรพเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก ได้แก่ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และมหาวิทยาลัยต่างๆได้มุ่งเน้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและ อสม. มีบทบาทในการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก รวมถึงให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความสามารถในการคัดกรองพัฒนาการได้ถูกต้องมากขึ้น
และหากคัดกรองแล้วพบพัฒนาการล่าช้า ต้องอาศัยเครื่องมือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ( Thai Earty Developmental Assessment for Intervention : TEDA4) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีเพราะสามารถใช้ได้ทั้งการประเมิน ส่งเสริม กระตุ้นพัฒนาการได้ครบทุกด้าน หากบุคลากรจากโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ สามารถใช้เครื่องมือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการได้อย่างถูกต้องแล้ว เราก็จะช่วยเหลือเด็กที่พัฒนาการล่าช้าได้ทัน เด็กก็จะสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคมต่อไป
นายแพทย์มนตรี นามมงคล ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต การที่เด็กจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพนั้น เด็กจะต้องมีพัฒนาการที่สมบูรณ์พร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา จึงมีความจำเป็นที่เด็กจะต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาและต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น โดยเฉพาะพัฒนาการด้านสติปัญญาและอารมณ์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต
จากข้อมูลการคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยของเขตสุขภาพที่ 1 ปี 2560 โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในเด็กช่วงอายุ 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือน และ 42 เดือน พบเด็กที่พัฒนาการสมวัยร้อยละ 73.15 และเด็กที่สงสัยพัฒนาการล่าช้า ร้อยละ 26.85 โดยพบว่าด้านที่สงสัยล่าช้า คือพัฒนาการด้านการเข้าใจภาษา และด้านพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา ซึ่งพัฒนาการด้านต่างๆเหล่านี้หากไม่ได้รับการกระตุ้น ส่งเสริม และได้รับการวินิจฉัยล่าช้าอาจส่งผลต่อความฉลาดทางสติปัญญาและการเรียนของเด็กในอนาคต รวมถึงโรคที่มีปัญหาด้านพัฒนาการและพฤติกรีรมเด็ก เช่น ภาวะพูดช้า โรคออทิสติก และโรคสมาธิสั้น เป็นต้น ดังนั้นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าจำเป็นต้องดำเนิน การส่งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ เพื่อรับการกระตุ้นพัฒนาการต่อไป
ดังนั้นเพื่อให้เด็กพัฒนาการล่าช้าได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ ด้วยเครื่องมือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ( Thai Earty Developmental Assessment for Intervention : TEDA4) ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการฝึกพูดในเบื้องต้นและได้รับการดูแลอย่างถูกต้องทั่วถึง ด้วยบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญ เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ให้ได้รับการกระตุ้น ดูแลอย่างถูกต้องให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย และเติบโตสู่เด็กวัยเรียนที่สมบูรณ์พร้อมมีความฉลาดทั้งด้านสติปัญญาและด้านอารมณ์ เพื่อให้เติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น