โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง พัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน บนพื้นฐานของความพอเพียง

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2547 โดยมีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของโครงการหลวง โดยมีแนวทางการพัฒนาครอบคลุมทั้งด้านบริบทของโลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งจะใช้พื้นที่ลุ่มน้ำเป็นขอบเขตในการจัดทำแผ่นแม่บทฯ เพื่อการพัฒนาที่เน้นความสมดุลในมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนฐานข้อมูลการตัดสินใจที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน ตลอดจนการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและการพัฒนาองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนแผนในอนาคต มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อให้ชุมชนเป้าหมายบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความมั่นคงทางอาหาร มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยใช้องค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ของโครงการหลวง ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางของโครงการหลวง โดยการใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในลักษณะโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง (Highland Development Project Using Royal Project System)

ปัจจุบันปี พ.ศ. 2559 สถาบันมีพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง จำนวน 32 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด 24 อำเภอ หมู่บ้านที่ดำเนินการทั้งสิ้นจำนวน 336 กลุ่มบ้าน โดยแบ่งพื้นที่การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงตามระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงที่มีระดับความสูงค่อนข้างต่ำ (ต่ำกว่า 500 เมตร) กลุ่มพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงที่มีระดับความสูงปานกลาง (500 – 1,000 เมตร) และ กลุ่มพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงที่มีระดับความสูงที่มีระดับความสูงมาก (มากกว่า 1,000 เมตร)

 

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่ากล้วย จังหวัดเชียงใหม่

เป็นพื้นที่การดำเนินงานหนึ่งของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ชุมชนบ้านป่ากล้วยเป็นชนเผ่าม้ง มีการขยายพื้นที่ทำกินโดยการปลูกพืชหลัก คือ กะหล่ำปลี ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของพื้นที่ต้นน้ำ มีการใช้สารเคมีในอัตราที่ค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและหมู่บ้านใกล้เคียง รวมถึงผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในลำน้ำแม่สรวย ทำให้เกิดการต่อต้านและเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทำเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง ต่อมาเกษตรกรชาวม้งบ้านป่ากล้วยหมู่ 14 ได้ขอรับการสนับสนุนความรู้ วิชาการการปลูกพืชที่เหมาะสมบนพื้นที่สูงจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงบ้านป่ากล้วยซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และมูลนิธิโครงการหลวงเห็นสมควรให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงดำเนินงานพัฒนาการเกษตรเพื่อสนับสนุนให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการเรียนรู้งานของโครงการหลวง โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชนในท้องถิ่นในการดำเนินงานการพัฒนาภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยนำองค์ความรู้จากมูลนิธิโครงการหลวงมาประยุกต์ใช้ภายใต้ชื่อโครงการขยายผลโครงการหลวงป่ากล้วย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

 

 โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง จังหวัดเชียงราย

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ทำหนังสือถึงประธานมูลนิธิโครงการหลวง ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี และคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมชุมชนในพื้นที่เพื่อรับทราบสภาพปัญหาและการดำเนินงานต่างๆ บ้านสันติคีรี ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 คณะสำรวจของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้เดินทางเข้าสำรวจพื้นที่รายหมู่บ้าน ในตำบลแม่สลองนอก-แม่สลองใน-ป่าตึง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม และ 9-10 กรกฎาคม 2553 รวม 15 หมู่บ้าน 25 กลุ่มบ้าน ได้เริ่มดำเนินงานโครงการขยายผลโครงการหลวง แม่สลอง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2553 เป็นต้นมา
ในปีงบประมาณ 2559 มีการส่งเสริมพืชที่ผ่าน GAP กับเกษตรกร 39 ราย ในพืชผักได้แก่ เบบี้คอส เบบี้ฮ่องเต้ ฟักทองญี่ปุ่น ฟิลเล่ย์ไอซ์เบิร์ก มะเขือม่วงก้านดำ มันเทศญี่ปุ่น ปวยเหล็ง องุ่น สตรอเบอรี่ กาแฟ อะโวคาโด พลัม เคพกูสเบอรี่ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น