วัดพระแก้ว เชียงราย

ตามตำนานโบราณกล่าวถึงตำนานพระแก้วมรกตว่ามีเทวดาสร้างขึ้นเพื่อถวายพระนาคเสนเถระที่เมืองปาฎลีบุตร (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะรัฐพิหารในอินเดีย) และได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานยังเมืองต่าง ๆ เช่น ที่เกาะลังกา, เมืองกัมพูชา, เมืองอินทาปัฐ(นครวัต), กรุงศรีอยุธยา, เมืองละโว้, เมืองเชียงราย (พ.ศ.1934-1979 ประดิษฐาน 45 ปี), เมืองลำปาง (พ.ศ.1979-2011 ประดิษฐาน 32 ปี), เมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2011-2096 ประดิษฐาน 85 ปี), เมืองเวียงจันทน์ (พ.ศ.2096-2321 ประดิษฐาน 225 ปี) และกรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2321-ปัจจุบัน ประดิษฐาน 230 ปี)

หลายคนเมื่อมีโอกาสเดินทางไปเยือนจังหวัดเชียงราย คงเคยแวะเข้าไปชมหอพระหยกเชียงราย เป็นอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญภายในวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดเชียงราย
วัดพระแก้วเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่บนถนนไตรรัตน์ ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯยกฐานะจากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2521 แต่เดิมวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ว่าในบริเวณนี้มีไม้ไผ่ชนิดหนึ่งคล้ายกับไม้ไผ่สีสุก แต่ไม่มีหนาม ชาวบ้านนิยมเอามาทำเป็นคันธนูและหน้าไม้ ชาวเชียงรายจึงเรียกว่า “วัดป่าเยี้ยะ” หรือ “วัดป่าญะ” ต่อมาในปีพ.ศ. 1977 ได้เกิดฟ้าผ่าเจดีย์วัดและได้พบพระแก้วมรกต ชาวบ้านจึงพากันเรียกชื่อวัดใหม่ว่า “วัดพระแก้ว”
ตามตำนานโบราณซึ่งพระภิกษุพระหมราชปัญญาได้แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลีไว้เมื่อปี พ.ศ.2272 ในหนังสือรัตนพิมพวงศ์ กล่าวถึงตำนานพระแก้วมรกตว่ามีเทวดาสร้างขึ้นเพื่อถวายพระนาคเสนเถระที่เมืองปาฎลีบุตร (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะรัฐพิหารในอินเดีย) และได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานยังเมืองต่าง ๆ เช่น ที่เกาะลังกา, เมืองกัมพูชา, เมืองอินทาปัฐ (นครวัต), กรุงศรีอยุธยา, เมืองละโว้, เมืองเชียงราย (พ.ศ.1934-1979 ประดิษฐาน 45 ปี), เมืองลำปาง (พ.ศ.1979-2011 ประดิษฐาน 32 ปี), เมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2011-2096 ประดิษฐาน 85 ปี), เมืองเวียงจันทน์ (พ.ศ.2096-2321 ประดิษฐาน 225 ปี) และกรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2321-ปัจจุบัน ประดิษฐาน 230 ปี)
ปัจจุบันพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังได้รับพระราชทานนามว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร”

ภายในอุโบสถวัดพระแก้ว เชียงรายเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ขนาดกว้าง 2 เมตรสูง 2.80 เมตร นั่งขัดสมาธิราบ พระรัศมีเป็นลักษณะมีดอกบัวตูมอยู่ในเปลวเพลิง ชายสังฆฎิสั้นเหนือรายพระถัน เม็ดพระศกใหญ่ พระหนุเป็นปมใหญ่และชัดมาก พระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมเป็นของวัดพระเจ้าล้านทอง ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย ต่อมาวัดดังกล่าวมาสภาพเป็นวัดร้างจึงถูกรื้อทิ้งและได้อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานอยู่ที่วัดดอยงำเมือง หรือ ดอยงามเมือง และได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว ซึ่งคนเชียงรายนิยมเรียกว่า “พระเจ้าล้านทอง”
พระอุโบสถวัดพระแก้วหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2433 กว้าง 9.50 เมตรยาว 21.8 เมตรเดิมเป็นพระวิหาร ต่อมาได้ขอพระราชทานวิสุคามสีมาและได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2495 นอกจากนั้นในบริเวณวัดยังมีพระเจดีย์ซึ่งมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 5.20 เมตร เหนือฐานเป็นลักษณะบัวคว่ำมีลูกแก้วคั้น 2 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นรูปบัวหงาย บริเวณยอดองค์เจดีย์เป็นปล้องไฉนซ้อนลดหลั่นขึ้นไปถึงเก้าชั้นจนถึงปลียอดเป็นโลหะฉัตรครอบอยู่
ในวโรกาสมหามงคลที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษาที่ผ่านมา ทางจังหวัดเชียงรายจึงได้จัดสร้างพระพุทธรูปหยก ขนาดกว้าง 47.9 เมตร สูง 65.9 เมตรสร้างขึ้นด้วยหยก จากประเทศแคนาดา พระพุทธรูปหยกองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นองค์แทนพระแก้วมรกต เพราะพระแก้วมรกตถูกค้นพบ ณ เจดีย์พระแก้วเป็นแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ.1977 ซึ่งสมเด็จย่าได้พระราชทานนามพระพุทธรูปหยกองค์นี้ว่า “พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นมงคลอนุสรณ์ 90 พรรษา และโปรดเกล้าให้เรียกสามัญนามว่า “พระหยกเชียงราย”
ภายในวัดพระแก้วยังมีหอพระหยกเชียงราย เป็นอาคารทรงแบบล้านนาโบราณ ซึ่งหอพระหยกหลังนี้สมเด็จพระศรีนครืนทราบรมราชชนนี ได้ทรงพระราชทานทุนทรัพย์เป็นทุนเริ่มการก่อสร้างจำนวน 1 ล้านบาท เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดหอพระหยกเชียงรายเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541
สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเมื่อมีโอกาสไปจังหวัดเชียงรายลองหาเวลาแวะเข้าไปชมความสวยงามของพระหยกเชียงราย สร้างขึ้นจากหยกขนาดใหญ่ ที่วัดพระแก้วเชียงรายเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว.

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]
4/3/58

ร่วมแสดงความคิดเห็น