แนะเกษตรกรเตรียมรับมือ “โรคราแป้งในถั่วลันเตา”

กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลันเตาให้เฝ้าสังเกตการระบาดของโรคราแป้ง สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต

ระยะนี้จะมีอากาศเย็น และมีน้ำค้างในตอนเช้า กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลันเตาให้เฝ้าสังเกตการระบาดของโรคราแป้ง สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของถั่วลันเตา มักพบอาการของโรคได้กับทุกส่วนของพืช อาการเริ่มแรกจะพบที่ใบล่างติดโคนต้นก่อน โดยมีลักษณะคล้ายผงแป้งสีขาวเกิดกระจายเป็นหย่อมๆ ทั้งบนใบและใต้ใบ หากอาการรุนแรง จะเห็นต้นถั่วลันเตาขาวโพลนทั้งต้น ทำให้ใบและส่วนต่างๆ บิดเบี้ยวเสียรูปทรง ใบจะเหลือง ไหม้ และร่วงก่อนกำหนด กรณีเกิดโรคในระยะออกดอก จะทำให้ต้นแคระแกร็น ติดฝักน้อย ฝักบิดเบี้ยว หรือฝักและเมล็ดลีบเล็กลง
เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูก กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก และบริเวณใกล้เคียงนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความชื้น ลดแหล่งสะสมเชื้อราสาเหตุโรค ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค หากเริ่มพบต้นที่เป็นโรค ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารซัลเฟอร์ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนแคป 19.5% ดับเบิ้ลยูพีอัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคอปเปอร์ซัลเฟต 30% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 12.5-25 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฮกซะโคนาโซล 5% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน หลีกเลี่ยงการพ่นสารซัลเฟอร์ในสภาพอากาศร้อน หรือมีแดดจัด เพราะอาจจะทำให้ใบไหม้ได้
สำหรับในแปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เกษตรกรเก็บซากต้นถั่วลันเตาไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรค การปลูกในฤดูถัดไป ไม่ควรปลูกพืชแน่นจนเกินไป ควรปรับระยะปลูกให้มีความเหมาะสม อากาศถ่ายเทสะดวก และมีแสงแดดส่องผ่านแปลงปลูกได้อย่างทั่วถึง เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรเมื่อใช้ในแปลงที่มีการระบาดแล้ว เกษตรกรควรนำเครื่องมือมาทำความสะอาดด้วยการล้างและผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำกลับไปใช้ในแปลงทุกครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น