หมู่บ้านท่องเที่ยวโอท๊อบ “หนองบัว” เมืองน่าน

บ้านหนองบัว หมู่บ้านหัตถกรรมและ OTOP ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองน่าน ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหมู่บ้าน OTOP ระดับภาคเหนือ เป็นหมู่บ้านของชาวไตลื้อ มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมานับร้อยปี เมื่อ พ.ศ.2365 หรือประมาณ 180 ปีสืบเชื้อสายมาจากชาวไตลื้อแห่งแคว้นสิบสองปันนา

คณะอนุกรรมการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์จังหวัดน่าน ได้กำหนดให้บ้านหนองบัว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมและ OTOP ท่องเที่ยว เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในชนบท จึงได้จัดให้มีการดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้นเพื่อให้แต่ละชุมชนได้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เป็นสินค้าคุณภาพ รวมทั้งอาจจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจะต้องให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดด้วย
ปัจจุบันเมืองน่านกำลังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมืองให้เป็นเมืองเก่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศต่อจากเกาะรัตนโกสินทร์ โดยจะมีการนำสายไฟฟ้าที่ห้อยระโยงระยางอยู่ในเขตเมืองลงสู่ใต้ดิน เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม
เมืองน่านนั้นเป็นเมืองโบราณ โดยทางคณะกรรมการอนุรักษ์เมืองน่านได้มีการส่งเสริมอนุรักษ์เมืองน่านไว้ 3 เรื่อง คือ ธรรมชาติ วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านต่าง ๆ ให้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมและ OTOP ท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาเยือนเมืองน่านเพิ่มมากขึ้น

หมู่บ้านหัตถกรรมและ OTOP ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองน่าน และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาคเหนือ ได้แก่ หมู่บ้านหนองบัว อ.ท่าวังผา ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวไตลื้อ มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมานับร้อยปี
ความสำคัญของบ้านหนองบัวจนได้รับการประกาศให้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมและ OTOP ท่องเที่ยวคือเป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2365 หรือประมาณ 180 ปีสืบเชื้อสายมาจากชาวไตลื้อแห่งแคว้นสิบสองปันนา โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งอพพยไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านล้าหลวง อ.เชียงคำ จ.พะเยา ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งอพพยมาอยู่ที่บ้านหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน กระทั่งต่อมาได้ขยายเครือญาติไปยังบ้านต้นฮ่างและบ้านดอนมูล
บ้านหนองบัว เป็นหมู่บ้านชาวไทลื้อกลุ่มใหญ่อาศัยมาช้านาน ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านไทลื้อเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเมื่อราว 200 กว่าปีก่อน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวไทลื้อจากเมืองล้าสิบสองปันนาที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองน่านว่า เมื่อประมาณจุลศักราช 1184 (พ.ศ.2365) แคว้นสิบสองปันนาเริ่มเกิดสงครามสู้รบแย่งชิงอำนาจกันระหว่างเจ้ามหาวังกับเจ้าหม่อมน้อย ซึ่งเป็นอากับหลานทำให้แคว้นสิบสองปันนาแตกเป็นสองฝ่าย เมืองทางตะวันออกของแม่น้ำโขงคือเมืองล้า เมืองอูใต้ เมืองอูเหนือ เมืองเชียงของ เมืองบางและเมืองลึงเป็นกำลังของฝ่ายเจ้าหม่อมน้อย เจ้าหม่อมน้อยหวั่นเกรงว่าจะพ่ายแพ้สงครามจึงขอรับการสนับสนุนกำลังทหารจากพระเจ้าล้านช้างร่มขาวแห่งเมืองล้านช้าง พระเจ้าล้านช้างร่มขาวจึงได้ส่งกำลังไปร่วมจำนวน 3,000 นายและขอรับการสนับสนุนจากเมืองน่านอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือเช่นกัน พระเจ้าอชิตวงศ์ขณะนั้นยังเป็นเจ้าราชบุตร และเจ้าคำมน ทั้งสองท่านได้นำกำลังทหารจำนวน 70 นายไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองปากแงนในเมืองหลวงปูคา เพื่อเตรียมเข้าช่วยเหลือกองกำลังของเจ้าหม่อมน้อย ขณะที่ตั้งทัพอยู่ที่เมืองปากแงนนั้น เจ้าหม่อมน้อยได้มอบหมายให้พระยาอรินทร์และราชาไชยวงศ์ นำเงินจำนวนหนึ่งหมื่นไปซื้อช้างจากพระเจ้าล้านช้างร่มขาว แต่เมื่อมาพบกับเจ้าราชบุตรและเจ้าคำมนเสียก่อน ทั้งสองจึงอาสาเป็นธุระจัดซื้อให้ท้าวโลกานำทูตของเจ้าหม่อมน้อยมาพบเจ้าฟ้าหลวงเมืองน่านเพื่อขอความเมตตาในการซื้อช้าง ซึ่งก็ได้ซื้อช้างจำนวน 6 เชือก
ในวันเพ็ญเดือน 6 กองกำลังลื้อ ลาวและชาวน่านได้นัดกันเข้าบุกโจมตีกอลกำลังฝ่ายเจ้ามหาวัง รบกันเพียง 2 วัน เมืองล้าของเจ้าหม่อมน้อยก็แตก กองกำลังไทลื้อ ลาวและชาวน่านแตกกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง กอลกำลังของเจ้ามหาวังไล่ติดตามมาจนถึงปากน้ำแรม เจ้าราชบุตรและเจ้าคำมนก็ได้พลัดหลงกัน จากนั้นทั้งสองจึงถอยร่นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงในบริเวณอำเภอท่าวังผาก็นำผู้คนชาวไทลื้อมาตั้งหลักแหล่งเป็นหมู่บ้าน ปัจจุบันคือหมู่บ้านหนองบัว บ้านต้นฮ่างและบ้านดอนมูล
นอกจากบ้านหนองบัวจะเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของไทลื้อแล้ว ที่หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีอาคารศิลปกรรมไทลื้อและภาพเขียนสีฝาผนังที่สมบูรณ์สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในล้านนา คือวิหารวัดหนองบัว สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2405 โดยการนำของครูบาหลวงสุนันต๊ะร่วมกับชาวบ้านหนองบัวช่วยกันสร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วิหารวัดหนองบัวแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบไทลื้อที่สมบูรณ์และหาดูยาก ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมที่แสดงเรื่องราวทางพุทธชาดก โดยช่างฝีมือสกุลไทลื้อที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองแห่งคือที่วัดภูมินทร์กับที่วัดหนองบัวแห่งนี้เท่านั้น
ภาพเขียนจิตรกรรมในวิหารวัดหนองบัวเขียนโดย ทิดบัวผัน ซึ่งเป็นช่างชาวลาวพวนที่นายเทพได้นำตัวมาจากเมืองพวนในแคว้นหลวงพระบาง ส่วนเรื่องราวที่เขียนในภาพได้แก่เรื่อง จันทคาธชาดก ซึ่งเป็นนิยายคติธรรมเก่าแก่อันดับที่ 11 ในหนังสือปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค ชาวบ้านในภาคเหนือจะเรียกว่า “ค่าวธรรม” จันทคาธชาดกนี้เป็นนิทานธรรมที่สอนให้กุลบุตรและกุลธิดาเอาแบบอย่างจริยธรรมที่ดีงามเช่น การเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น
นอกจากนี้ในภาพจิตรกรรมยังมีภาพเรือกลไฟและทหารชาวฝรั่งเศส ซึ่งตามประวัติของเรือกลไฟแล้วมีแหล่งกำเนิดอยู่ในยุโรปและอเมริกา สำหรับประเทศไทยมีหลักฐานอยู่ในหอจดหมายเหตุหลายแห่ง สันนิษฐานว่าช่างเขียนคงจะเขียนภาพอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง รัชกาลที่ 5
นอกจากนั้นชาวไตลื้อบ้านหนองบัวยังมีประเพณีเก่าแก่คือ ประเพณีกำเมือง หรือ ประเพณี 3 ปี 4 รวงข้าว เป็นประเพณีเลี้ยงเทวดาหลวง หรือ เจ้าหลวงเมืองล้าของชาวไตลื้อ พิธีกรรมนี้ได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ครั้งที่บรรพบุรุษของชาวไตลื้อยังอยู่ที่สิบสองปันนา เมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดน่านก็ยังคงสืบทอดประเพณีดังกล่าวเรื่อยมากว่า 100 ปี
หมู่บ้านหนองบัวยังมีอาหารที่ถือได้ว่านำชื่อเสียงมาสู่หมู่บ้าน ทำให้คนรู้จักบ้านหนองบัวก็คือ สาหร่ายแม่น้ำน่าน หรือ ไก ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศที่บ้านหนองบัวนี้เอง ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้นำสาหร่ายแม่น้ำน่านมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนหลากหลายชนิดที่ขึ้นชื่อได้แก่ ไกแผ่น ข้าวตังหน้าไก น้ำพริกไกและไกยี
ไก เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวไตลื้อมานานนับร้อยปี เป็นวัตถุดิบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในแม่น้ำน่านที่ใสสะอาด พบมากที่สุดบริเวณอำเภอท่าวังผา คนไตลื้อรุ่นปู่ย่าตายาย นิยมนำไกมาปรุงอาหาร เช่น ห่อนึ่งไก คั่วไก โดยพบว่า ไกเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว ส่วนด้านหัตถกรรมผู้หญิงชาวไตลื้อบ้านหนองบัวยังมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับการทอผ้า โดยเฉพาะผ้าลายน้ำไหล ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะนิยมทอผ้าที่ใต้ถุนบ้าน ผ้าทอลายน้ำไหลและผ้าทอไตลื้อ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำชื่อเสียงมาสู่บ้านหนองบัว จนผ้าทอเหล่านี้ได้กลายเป็นสินค้า OTOP ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนบ้านหนองบัว

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected].
8/10/60

ร่วมแสดงความคิดเห็น