กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครอง ดูแลเด็กช่วงปิดเทอมอย่างใกล้ชิด ระวังการจมน้ำ

กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองและชุมชนช่วยกันดูแลเด็กใกล้ชิดช่วงใกล้ปิดเทอม ระวังการจมน้ำ หลังเกิดเหตุเด็กหญิงที่จังหวัดปราจีนบุรี จมน้ำพร้อมกัน 3 ราย ชี้ข้อมูลปี 2560 พบเหตุการณ์ที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมากถึง 15 ครั้ง เสียชีวิตกว่า 700 คน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ใกล้ปิดเทอมและกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน เป็นช่วงที่พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ของกรมควบคุมโรค ในปี 2560 ที่ผ่านมา พบเหตุการณ์จมน้ำเสียชีวิต 33 เหตุการณ์ เกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 21 เหตุการณ์ และมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปถึง 15 เหตุการณ์ หรือร้อยละ 71.4

โดยสาเหตุหลักเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่ม และเด็กขาดทักษะเอาชีวิตรอดในน้ำ และการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ส่วนสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ในชุมชน เช่น สระเก็บน้ำ บ่อขุดเพื่อการเกษตร ฝายทดน้ำ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำส่วนใหญ่ไม่มีการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น การปักป้ายเตือน การกั้นรั้ว การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ อย่างกรณีที่เกิดกับเด็กหญิงในจังหวัดปราจีนบุรี ที่จมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน 3 ราย ภายในบริเวณสระน้ำหมู่บ้าน ซึ่งพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นปลายสัปดาห์ที่แล้วจากการที่เด็กหญิง อายุ 9-12 ปี 5 คน ชวนกันไปเล่นน้ำ แต่ส่วนใหญ่เด็กว่ายน้ำไม่เป็น ขณะเล่นได้ลื่นไถลลงในบ่อน้ำโดยที่ไม่รู้ว่าบ่อลึก จากจำนวนทั้ง 5 คน มี 1 คนที่ว่ายน้ำเป็นและช่วยเหลือเพื่อนมาได้ 1 คน ด้วยการว่ายไปเกาะขอนไม้ขึ้นฝั่งจากนั้นนำไม้ไผ่ที่อยู่ข้างขอบสระน้ำยื่นให้เพื่อนจับ ที่เหลืออีก 3 คน จมน้ำหายไป ซึ่งกรมควบคุมโรค ขอแสดงความเสียใจในความสูญเสียของครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ แต่จากเหตุการณ์ครั้งนี้จะเห็นว่ามีการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและถูกวิธี 1 คน โดยการยื่นไม้ช่วย มิเช่นนั้นเราอาจสูญเสียเด็กเพิ่มมากขึ้นอีก

ทั้งนี้ เด็กจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2560 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 708 คน พบมากสุดในช่วงปิดเทอม 3 เดือน เดือนมีนาคม–พฤษภาคม กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ทุกชุมชนดำเนินการ สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน เช่น ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้ และ ควรสอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับผู้ปกครองควรเตือนเด็กและสอนให้เด็กเรียนรู้กฎความปลอดภัยทางน้ำ เช่น ไม่เล่นใกล้แหล่งน้ำ รู้จักประเมินแหล่งน้ำ เช่น ความลึก ความตื้น และกระแสน้ำ เป็นต้น

ข้อมูลข่าวและที่มาผู้สื่อข่าว : นฤมล อุดมพร / สวท.ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกาแหล่งที่มา : Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น